มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลมาเลเซียหันไปใช้พันธบัตรอิสลามประเภทระยะยาวเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาขาดดุลและลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องนั้น เป็นปัจจัยที่สนับสนุนความน่าเชื่อถือของมาเลเซีย
มูดี้ส์ ระบุในรายงานซึ่งมีการเผยแพร่ในวันนี้ว่า "เรามองว่าการเปลี่ยนไปใช้พันธบัตรอิสลามเป็นเครื่องมือทางการเงินนั้น เป็นสิ่งที่ดีต่อเครดิตของมาเลเซีย เพราะเครื่องมือเหล่านี้มีเสถียรภาพมากกว่าพันธบัตรทั่วไป ทั้งยังมีความแตกต่างไปจากโครงสร้างหนี้ของมาเลเซีย"
รัฐบาลมาเลเซียมีภาระหนี้สินในอัตราส่วนสูงถึง 50.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งสูงกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศกลุ่มที่มีเครดิตระดับ A ซึ่งอยู่ที่ 40.1% ของ GDP
มูดี้ส์ ระบุว่า "การระดมทุนในมาเลเซียที่ต้นทุนค่อนข้างต่ำและและมีสภาพคล่องที่ดี ประกอบกับการที่พันธบัตรอิสลามอิงค่าเงินริงกิตเป็นส่วนใหญ่ (96.4% ของทั้งหมด) นั้น สามารถชดเชยภาระหนี้สินข้างต้นส่วนหนึ่ง เพราะมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนน้อยมาก ดังนั้น การใช้พันธบัตรอิสลามเป็นเครื่องมือทางการเงินนับเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการระดมทุนด้วยสกุลเงินริงกิต"
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า Malaysian Government Investment Issues (MGII) ซึ่งเป็นตราสารหนี้ตามหลักชาริอะห์ในสกุลเงินริงกิต คิดเป็นสัดส่วน 50% ของการระดมทุนของรัฐบาลกลางมาเลเซียในปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 26.4% เมื่อปี 2551
การที่รัฐบาลมาเลเซียหันมาใช้พันธบัตรอิสลาม (sukuk) มากขึ้นนั้น ส่งผลให้สัดส่วนของ MGII ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 40% ของมูลค่าหนี้สินค้างชำระของรัฐบาล ณ สิ้นสุดไตรมาสแรก เพิ่มขึ้นจาก 13.9% ในช่วงปลายปี 2551