ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (13 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับการร่วงลงของค่าเงินตุรกีและผลกระทบที่จะลุกลามไปยังประเทศต่างๆ โดยความกังวลในเรื่องดังกล่าวได้ฉุดหุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลง และส่งผลให้ดัชนีดาวโจนส์ และดัชนี S&P 500 ปิดตลาดในแดนลบติดต่อกันเป็นวันที่ 4
--นายเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสหรัฐอย่างรุนแรง โดยอ้างว่าสหรัฐหวังที่จะ "แทงตุรกีข้างหลัง" ด้วยการใช้มาตรการคว่ำบาตร
ผู้นำตุรกีได้มีถ้อยแถลงดังกล่าวในที่ประชุมเอกอัครราชทูตตุรกี ณ กรุงอังการา โดยเขากล่าวว่า "เศรษฐกิจตุรกีน่าจะถูกโจมตีสักระยะหนึ่ง" แต่ตุรกีจะใช้มาตรการตอบโต้
ทั้งนี้ เศรษฐกิจตุรกีถูกสหรัฐใช้มาตรการคว่ำบาตรเพื่อลงโทษรัฐบาลตุรกี ในกรณีควบคุมตัวบาทหลวงแอนดรูว์ บรุนสัน ตั้งแต่ปี 2559 ในข้อหาให้การสนับสนุนการก่อรัฐประหารในปี 2559 โดยเมื่อวันที่ 1 ส.ค. สหรัฐได้ประกาศคว่ำบาตรต่อรัฐมนตรีมหาดไทยและยุติธรรมของตุรกี ซึ่งส่งผลให้มีการอายัดทรัพย์สินในสหรัฐของบุคคลทั้งสอง และพวกเขาจะถูกห้ามทำธุรกรรมในสหรัฐ
-- กระทรวงมหาดไทยตุรกีแถลงว่า จะดำเนินคดีทางกฎหมายต่อสื่อสังคมออนไลน์ที่กระพือข่าวจนทำให้ค่าเงินลีราดิ่งลงเป็นประวัติการณ์ โดยเริ่มการสอบสวนต่อบัญชีในสื่อออนไลน์จำนวน 346 บัญชี ซึ่งได้เผยแพร่เนื้อหาที่ทำให้ดอลลาร์พุ่งขึ้นเมื่อเทียบกับลีรา ขณะเดียวกัน คณะกรรมการตลาดทุนตุรกีก็ได้ออกคำเตือนต่อผู้ที่เผยแพร่ข้อมูล, ข่าว หรือบทวิเคราะห์ที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
-- ธนาคารกลางจีนเปิดเผยว่า ยอดการปล่อยเงินกู้ล็อตใหม่สกุลเงินหยวนประจำเดือนก.ค.อยู่ที่ระดับ 1.45 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 2.11 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 6.278 แสนล้านหยวน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
ทั้งนี้ แม้ยอดปล่อยเงินกู้สกุลเงินหยวนเดือนก.ค.ชะลอตัวลงจากระดับ 1.84 ล้านล้านหยวนในเดือนมิ.ย. แต่ก็ยังใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยรายเดือนในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.5 ล้านล้านหยวน
-- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจหลายรายการในวันนี้ ซึ่งได้แก่ ยอดค้าปลีกประจำเดือนก.ค. ปรับตัวขึ้น 8.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนก.ค. ขยายตัว 6% เมื่อเทียบเป็นรายปี
ส่วนการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มขึ้น 10.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการขยายตัวที่รวดเร็วกว่าช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย.ที่มีการขยายตัวเพียง 9.7% ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากช่วงเดือนม.ค.-มิ.ย.ที่มีการขยายตัว 6%
-- รัฐบาลอินโดนีเซียเรียกร้องให้กลุ่มผู้ส่งออกโอนกำไรซึ่งอยู่ในรูปดอลลาร์กลับประเทศ และแปลงเป็นสกุลเงินรูเปียห์เพื่อช่วยพยุงค่าเงินที่กำลังทรุดตัวลง พร้อมหวังว่าการโอนดอลลาร์กลับประเทศจะช่วยเพิ่มปริมาณดอลลาร์ในตลาด และจะช่วยสกัดการอ่อนค่าของรูเปียห์
รูเปียห์ได้อ่อนค่าลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในเดือนมี.ค.และมิ.ย. ขณะที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในเดือนก.ย.และธ.ค.
นอกจากนี้ รูเปียห์ดิ่งลงรุนแรงขึ้นจากวิกฤตค่าเงินในตุรกี ส่งผลให้รูเปียห์ร่วงลงแตะ 14,600 เทียบดอลลาร์ในวันนี้ จากระดับ 14,437 ในวันเสาร์
ทั้งนี้ วิกฤตการเงินในตุรกีได้สร้างความเสี่ยงที่จะลุกลามไปยังตลาดเกิดใหม่ ส่งผลให้สกุลเงินแรนด์ของแอฟริกาใต้, รูปีของอินเดีย และรูเปียห์ของอินโดนีเซีย ต่างอ่อนค่าลงอย่างมาก ขณะที่ตลาดหุ้นทรุดตัวลงเช่นกัน จากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มอุปสงค์น้ำมัน
-- ราคาหุ้นไบเออร์ ดิ่งลงมากกว่า 10% ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นยุโรปเมื่อคืนนี้ หลังจากคณะลูกขุนในรัฐแคลิฟอร์เนียมีคำสั่งให้บริษัทมอนซานโต ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไบเออร์ จ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งรายหนึ่งจำนวน 289 ล้านดอลลาร์ หรือราว 9,600 ล้านบาทเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
โดยคณะลูกขุนมีความเห็นว่า มอนซานโตมีความผิด กรณีที่ไม่ได้แจ้งผู้ป่วยรายนี้ รวมทั้งผู้บริโภครายอื่นๆ เกี่ยวกับความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้า "ราวน์อัพ" ซึ่งมีสารไกลโฟเสท ซึ่งคดีดังกล่าวถือเป็นคดีแรกในจำนวนมากกว่า 5,000 คดีที่มอนซานโตถูกฟ้องร้องในสหรัฐ
-- สำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติของอินโดนีเซียเปิดเผยว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.9 แมกนิจูดบนเกาะลอมบอกพุ่งขึ้นแตะระดับ 436 รายแล้ว ขณะที่มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 13,600 ราย และประชาชนมากกว่า 378,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกจำนวน 593 ครั้ง
ทั้งนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่ออินโดนีเซียคิดเป็นมูลค่า 5.04 ล้านล้านรูเปียห์ (342 ล้านดอลลาร์) หรือราว 11,400 ล้านบาท
-- นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในวันนี้ โดยออสเตรเลียจะเปิดเผย ความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนก.ค.จากเนชั่นแนล ออสเตรเลีย แบงก์ (NAB) ขระที่ญี่ปุ่นจะเปิดเผย การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. ด้านเยอรมนีเตรียมเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 อัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค. ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนส.ค.โดยสถาบัน ZEW ขณะที่อังกฤษจะเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค. ส่วนอียูเตรียมเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย.ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือนส.ค.โดยสถาบัน ZEW และสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคานำเข้าและส่งออกเดือนก.ค.
ส่วนในวันพรุ่งนี้ ออสเตรเลียจะเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค.จากเวสต์แพค จีนเปิดเผยดัชนีราคาบ้านเดือนก.ค. อังกฤษเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนก.ค. ขณะที่สหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนก.ค. ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนส.ค.จากเฟดนิวยอร์ก การผลิตภาคอุตสาหกรรม-การใช้กำลังการผลิตเดือนก.ค. สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนมิ.ย. ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนส.ค. จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA)