ตลาดการเงินทั่วโลกต่างก็จับตาการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับใหม่ระหว่างสหรัฐและแคนาดาในวันพุธที่จะถึงนี้ หลังจากที่ตัวแทนเจรจาการค้าของแคนาดายอมรับว่ายังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่กับสหรัฐเมื่อวันศุกร์ที่ 31 ส.ค. ซึ่งเป็นกำหนดเส้นตายที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ระบุไว้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังคงมีความขัดแย้งกันในหลายประเด็น
-- ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ได้ทวีตข้อความเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า "ไม่มีความจำเป็นทางการเมือง" ที่ต้องเก็บแคนาดาไว้ในข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่
"หากไม่ได้ข้อตกลงที่ยุติธรรมสำหรับสหรัฐ หลังจากที่เราถูกเอาเปรียบมาตลอดหลายสิบปี แคนาดาก็ต้องออกไป" ทรัมป์ระบุในทวีต ถือเป็นการขู่ฉีกข้อตกลงการค้าเสรีไตรภาคีที่มีมานาน 24 ปี
"เราเคยดีกว่านี้มากตอนที่ยังไม่มี NAFTA เราไม่ควรทำข้อตกลงตั้งแต่แรก และเราจะทำข้อตกลงฉบับใหม่หรือย้อนกลับไปก่อนที่จะมี NAFTA"
ทั้งนี้ สหรัฐพยายามกดดันให้แคนาดายอมรับข้อตกลงเบื้องต้นที่สหรัฐทำกับเม็กซิโกก่อนหน้านี้ แต่แคนาดายืนยันว่าจะลงนามในข้อตกลงที่เป็นผลดีกับประเทศเท่านั้น ขณะเดียวกันปธน.ทรัมป์ขู่ว่าจะขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากแคนาดา หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ได้
-- กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า การลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นหลักฐานล่าสุดที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้ง
รายงานระบุว่า การลงทุนของบริษัทนอกภาคการเงิน เช่น การสร้างโรงงานและการซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมนั้น อยู่ที่ระดับ 10.66 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 9.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 12.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันยาวนานถึง 7 ไตรมาส
-- นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของอังกฤษ เปิดเผยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า จะไม่มีการทำประชามติ Brexit รอบสอง โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการทรยศต่อความเป็นประชาธิปไตยของอังกฤษอย่างรุนแรง
ผู้นำอังกฤษเขียนบทความลงในเว็บไซต์เดลี่เทเลกราฟเมื่อวันเสาร์ว่า "รัฐบาลชุดนี้จะเติมเต็มการตัดสินใจของชาวอังกฤษด้วยการสร้างความเชื่อมั่นว่า อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 29 มี.ค.ปีหน้า เรากำลังสร้างอังกฤษที่แข็งแกร่งขึ้นและประสบความสำเร็จด้วยตนเองเพื่ออนาคต"
ทั้งนี้ นายกฯอังกฤษแสดงความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถทำข้อตกลงที่เป็นผลดีต่ออังกฤษได้ ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำว่าอังกฤษพร้อมออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลง (Brexit with no deal) หากจำเป็น
-- ทำเนียบขาวเปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ซึ่งมีกำหนดการจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ในเดือนพ.ย.นี้ แต่จะส่งนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐร่วมการประชุมแทน
นางซาราห์ ฮัคคาบี แซนเดอร์ส โฆษกทำเนียบขาวเปิดเผยในแถลงการณ์ว่า "รองปธน. ไมค์ เพนซ์ จะเน้นต่อที่ประชุมถึงวิสัยทัศน์ของสหรัฐในการเปิดเสรีอินโด-แปซิฟิก ด้วยความเคารพในอำนาจอธิปไตย, หลักนิติธรรม และหลักการของการค้าที่เป็นธรรม, เปิดกว้าง และมีผลประโยชน์ร่วมกัน"
-- นายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กล่าวว่า สหภาพยุโรป (EU) จะยกเลิกการปรับเวลา daylight savings time หลังจากที่ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนใน 28 ประเทศทั่ว EU ต่างสนับสนุนการยกเลิกการดำเนินการดังกล่าว
นายยุงเกอร์กล่าวว่า EC ให้ความสำคัญต่อการเรียกร้องของชาวยุโรปมากกว่า 80% ที่ให้ยกเลิกการปรับเวลาดังกล่าว โดยจะขึ้นอยู่กับการอนุมัติของรัฐสภายุโรป และประมุขของประเทศใน EU ในการยกเลิกการปรับเวลา daylight savings time
ทั้งนี้ ชาวยุโรปเริ่มมีการปรับเวลา daylight savings time ตั้งแต่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และประหยัดพลังงาน โดยในปี 1996 ประเทศใน EU ทุกประเทศได้ตกลงกันที่จะปรับเวลาเร็วขึ้น 1 ชั่วโมงในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมี.ค. ก่อนที่จะปรับเวลากลับคืน 1 ชั่วโมงในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนต.ค.
-- ตลาดการเงินและหน่วยงานราชการของสหรัฐปิดทำการในวันนี้ เนื่องในวันแรงงาน
-- จับตาข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในวันนี้ โดยออสเตรเลียจะเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนก.ค. ขณะที่ไฉซินจะเปิดเผย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนส.ค. ส่วนมาร์กิตจะเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนส.ค.ของฝรั่งเศส เยอรมนี อียู และอังกฤษ
ส่วนในวันพรุ่งนี้ เกาหลีใต้จะเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2561 และอัตรเงินเฟ้อเดือนส.ค. ขณะที่ธนาคารกลางออสเตรเลียประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย ทางด้านสหรัฐจะเปิดเผยการใช้จ่ายด้านการก่อสรางเดือนก.ค. ยอดขายรถยนต์เดือนส.ค. และดัชนีภาคการผลิตเดือนส.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)