Spotlight: จับตาสหรัฐ-แคนาดาเจรจาข้อตกลง NAFTA วันพุธนี้ หลังการเจรจาวันศุกร์คว้าน้ำเหลว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 3, 2018 11:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลังจากที่สหรัฐและแคนาดาไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ฉบับใหม่ในวันศุกร์ที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา ทั้งสองชาติจึงได้ตกลงกันที่จะเปิดการเจรจาใหม่ในวันพุธที่จะถึงนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า ทั้งสองฝ่ายต่างก็เฝ้าระวังเกี่ยวกับข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ให้ผลประโยชน์กับอีกฝ่าย

นายวินเซนต์ สมิธ อาจารย์วิชาเศรษฐศาสตร์จากมอนทานา สเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า "ยังคงไม่ชัดเจนว่าข้อตกลงสุดท้ายระหว่างสหรัฐและแคนาดาจะเป็นเช่นใด แต่ไม่ว่าข้อตกลงจะออกมาเช่นไร ผู้บริโภคชาวสหรัฐก็มีแนวโน้มที่จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ อันเนื่องมาจากข้อพิพาททางการค้า"

นายสมิธ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขาเศรษฐศาสตร์เกษตร และยังเป็นนักวิชาการของ The Enterprise Institute กล่าวว่า ข้อตกลงการค้าไม่ว่าจะเป็นระดับทวิภาคีหรือไตรภาคีนั้น มักจะเอาเปรียบประเทศที่เสนอราคาสินค้าที่ต่ำกว่า ตัวอย่างเช่น สหรัฐและเม็กซิโกได้ทำข้อตกลงการค้าทวิภาคี ซึ่งจะสร้างความเสียหายกับประชาชนชาวสหรัฐ

ด้านนายปีเตอร์ แฮร์ริส อาจารย์วิชารัฐศาสตร์แห่งโคโลราโด สเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ กล่าวว่า "กระบวนการเหล่านี้เหมือนเป็นการแสดงละคร ซึ่งเปิดทางให้ปธน.ทรัมป์สามารถยึดอำนาจศูนย์กลางไว้ได้ และสร้างภาพให้ตัวเขาเองเป็นเหมือนผู้ประกอบการที่พยายามทำข้อตกลงเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับชาติ ซึ่งไม่เกรงกลัวที่จะต่อสู้แม้แต่กับประเทศเพื่อนบ้านของตัวเอง"

"แต่ความจริงแล้ว สิ่งที่ปธน.ทรัมป์ได้ทำลงไปนั้นได้ทำให้สหรัฐด้อยลงกว่าเดิมในเวทีโลก" นายแฮร์ริสกล่าวกับสำนักข่าวซินหัว

ทั้งนี้ นายแฮร์ริสเชื่อว่า ข้อตกลง NAFTA เป็นเพียงการเบี่ยงเบนความสนใจจากเรื่องที่ใหญ่กว่า

ขณะที่นายสมิธกล่าวว่า ข้อตกลงระหว่างสหรัฐและเม็กซิโกนั้นหมายถึง "แคนาดาอาจมีแนวโน้มที่จะสูญเสียตลาดหลักสำหรับการส่งออกรถยนต์หลากหลายแบรนด์ อาทิ ฟอร์ด และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ผลิตในแคนาดา"

สมิธยังกล่าวด้วยว่า สหรัฐได้ส่งออกสินค้าไปยังแคนาดาเพียง 15% เท่านั้น และการเรียกเก็บภาษียานยนต์กับแคนาดาอาจส่งผลกระทบต่อคนงานกว่า 100,000 ตำแหน่งในรัฐออนตาริโอ ซึ่งสื่อของแคนาดาระบุว่าเป็น "มหันภัย" เลยทีเดียว

ข้อกำหนดเกี่ยวกับการค้าในภาคยานยนต์ตามข้อตกลงของสหรัฐและเม็กซิโก รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะสูญเสียตลาดภาคการเกษตรและการส่งออกอื่นๆ อาทิ ข้าวสาลี อาจทำให้แคนาดาต้องเร่งรีบหาข้อสรุปกับสหรัฐให้ได้ในเร็ววันนี้

สื่อแคนาดายังระบุด้วยว่า การที่แคนาดามีการส่งออกไปยังสหรัฐในสัดส่วน 75% หรือเท่ากับ 1 ใน 5 ของตัวเลข GDP นั้น ทำให้แคนาดายังไม่สามารถแยกตัวออกมาจากข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่ได้

ทั้งนี้ ตัวแทนเจรจาการค้าของแคนาดายอมรับว่ายังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่กับสหรัฐเมื่อวันศุกร์ที่ 31 ส.ค. ซึ่งเป็นกำหนดเส้นตายที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ระบุไว้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังคงมีความขัดแย้งกันในหลายประเด็น

ปธน.ทรัมป์ได้ทวีตข้อความเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า "ไม่มีความจำเป็นทางการเมือง" ที่ต้องเก็บแคนาดาไว้ในข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่

"หากไม่ได้ข้อตกลงที่ยุติธรรมสำหรับสหรัฐ หลังจากที่เราถูกเอาเปรียบมาตลอดหลายสิบปี แคนาดาก็ต้องออกไป" ทรัมป์ระบุในทวีต ถือเป็นการขู่ฉีกข้อตกลงการค้าเสรีไตรภาคีที่มีมานาน 24 ปี

อนึ่ง สหรัฐและเม็กซิโกได้บรรลุข้อตกลงการค้าเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว ซึ่งอาจทำให้มีการนำข้อตกลงดังกล่าวมาใช้แทน NAFTA ฉบับเดิม

บทวิเคราะห์โดย ปีเตอร์ เมิร์ทซ์ จากสำนักข่าวซินหัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ