ส.ส.รีพับลิกันเสนอขยายเวลาปรับลดภาษีบุคคลธรรมดาก่อนกฎหมายหมดอายุปี 68

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 11, 2018 09:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐสังกัดพรรครีพับลิกัน ได้ยื่นข้อเสนอในการขยายเวลาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรรมดา เพื่อแก้ไขกฎหมายที่ว่าด้วยการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างถาวร จากเดิมที่จะหมดอายุในปี 2568 นี้ ให้เป็นไปตามที่ได้ประกาศลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 35% เป็น 21% อย่างถาวรเมื่อปีที่ผ่านมา สืบเนื่องจากมาตรการปรับลดภาษีวงเงิน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

นอกเหนือจากการเสนอให้ปรับลดภาษีบุคคลธรรมดาอย่างถาวรแล้ว ข้อเสนอดังกล่าวยังรวมถึงการยืดเวลาเพิ่มอัตราหักลดหย่อนภาษี ซึ่งกฎหมายภาษีใหม่อนุญาตให้คนโสดหักค่าใช้จ่ายได้ 12,000 ดอลลาร์ และผู้ที่สมรสหักค่าใช้จ่ายได้ 24,000 ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับก่อนปฏิรูปภาษีที่ลดหย่อนได้ 6,350 ดอลลาร์ และ 12,600 ดอลลาร์ตามลำดับ รวมถึงอัตราลดหย่อนพิเศษสำหรับธุรกิจประเภทเจ้าของคนเดียว (pass-through)

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นโดยคาดกันว่าเป็นความพยายามในการหาเสียง ก่อนสหรัฐเปิดฉากเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพ.ย.นี้

ข้อเสนอแก้ไขภาษีครั้งนี้คาดว่าจะเผชิญกับอุปสรรคในวุฒิสภา ซึ่งได้ถกเถียงเรื่องกฎหมายปฏิรูปภาษีมาตั้งแต่วันที่ประกาศใช้เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา โดยฝั่งพรรครีพับลิกันมองว่าการปฏิรูปภาษีจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ฝั่งพรรคเดโมแครตมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้คนรวยและทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณมากขึ้น

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีวงเงิน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2560 ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐนับตั้งแต่ปี 2529 หรือกว่า 30 ปี และถือเป็นชัยชนะครั้งแรกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกันในสภาคองเกรสนับตั้งแต่ที่ปธน.ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งในเดือนม.ค. 2560

ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้าย มาจากการรวมเนื้อหาของร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีที่ผ่านการอนุมัติของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรก่อนหน้านี้ โดยร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีขั้นสุดท้ายจะยังคงจำนวนขั้นบันไดของการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ที่ 7 ขั้น คือที่ระดับ 10%, 12%, 22%, 24%, 32%, 35% และ 37% โดยลดอัตราภาษีขั้นสูงสุดสู่ระดับ 37% จากระดับ 39.6% ขณะเดียวกัน จะปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ลงสู่ระดับ 21% จากระดับ 35% โดยมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 1 ม.ค. 2561


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ