ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับขึ้นเพียง 18.38 จุด หรือ +0.07% เมื่อวันศุกร์ (28 ก.ย.) เช่นเดียวกับ Nasdaq ที่บวกเล็กน้อย ส่วน S&P 500 ปิดทรงตัว ขณะที่นักลงทุนจับตาสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน รวมทั้งติดตามสถานการณ์การเมืองในอิตาลี
-- ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านงบประมาณของอิตาลีเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ฉุดตลาดหุ้นทั่วโลกในวันศุกร์ หลังจากรัฐบาลอิตาลีภายใต้การนำของพรรคไฟว์ สตาร์ และพรรคเดอะ ลีก เห็นพ้องให้มีการกำหนดเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณในปีหน้าไว้ที่ 2.4% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของรัฐบาลชุดก่อนถึง 3 เท่า และคาดว่าจะทำให้สหภาพยุโรป (EU) แสดงความไม่เห็นด้วย
รัฐบาลอิตาลีได้ขยายเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณในปี 2562 เพื่อหนุนนโยบายจากแคมเปญการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับ EU
-- นักลงทุนเริ่มกลับมาวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนอีกครั้ง โดยหวั่นว่าสงครามการค้าจะลุกลามบานปลาย หลังจากล่าสุดสหรัฐกล่าวหาว่าจีนพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐที่จะจัดขึ้นในเดือนพ.ย.นี้ ซึ่งจีนก็ได้ออกมาเรียกร้องให้สหรัฐยุติการใช้ถ้อยคำและการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งผลประโยชน์พื้นฐานของประชาชนทั้งสองประเทศ
นายเกิง ฉวง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ได้ร้องขอในเรื่องดังกล่าวระหว่างการแถลงข่าวรายวัน ภายหลังจากที่มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่สหรัฐได้กล่าวหาจีนว่า พยายามที่จะแทรกแซงการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ
-- ภาคการผลิตของจีนชะลอตัวลงอันเนื่องมาจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานเมื่อวานนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตอยู่ที่ระดับ 50.8 ในเดือนก.ย. ลดลงจากระดับ 51.3 ในเดือนส.ค.
ขณะที่มาร์กิตและไฉซินได้เปิดเผยผลสำรวจเมื่อวานนี้เช่นกันว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีน อยู่ที่ระดับ 50.0 ในเดือนก.ย. ลดลงจากระดับ 50.6 ในเดือนส.ค. ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่าภาคการผลิตจีนไม่มีการขยายตัวในเดือนก.ย. หลังจากที่ขยายตัวต่อเนื่องนาน 15 เดือน เนื่องจากยอดสั่งซื้อเพื่อการส่งออกร่วงลงหนักที่สุดในรอบกว่า 2 ปี
-- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยในวันนี้ว่า ความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นซึ่งรวมถึงผู้ผลิตรถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลงติดต่อกัน 3 ไตรมาส เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (ทังกัน) ประจำไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ +19 ลดลงจากระดับ +21 ในไตรมาส 2 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในโพลล์สำรวจของสำนักข่าวเกียวโดที่ระดับ +22
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบริษัทนอกภาคการผลิตในไตรมาส 3 ซึ่งรวมถึงภาคบริการนั้น อยู่ที่ระดับ +22 ลดลงจากระดับ +24 ในไตรมาส 2 โดยส่วนหนึ่งเนื่องจากผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติในช่วฤดูกร้อนปีนี้ ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ซึ่งมีสาเหตุมาจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่นในเดือก.ค. และพายุไต้ฝุ่นเชบีซึ่งพัดถล่มญี่ปุ่นในช่วงต้นเดือนก.ย.
-- กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้เปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดส่งออกเดือนก.ย.ปรับตัวลง 8.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 5.058 หมื่นล้านดอลลาร์ อันเนื่องมาจากจำนวนวันทำงานที่น้อยลงในเดือนก.ย.
ขณะที่ยอดนำเข้าเดือนก.ย.ลดลง 2.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 4.083 หมื่นล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ เกาหลีใต้มียอดเกินดุลการค้าระดับ 9.7 พันล้านดอลลาร์ในเดือนก.ย. และนับเป็นเดือนที่ 80 ติดต่อกันที่เกาหลีใต้มีมูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค่าการนำเข้า
-- นายซูโตโป ปูร์โว นูโกรโฮ โฆษกสำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง 7.5 แมกนิจูด และสึนามิที่เกิดตามมาในจังหวัดสุลาเวสีกลางของอินโดนีเซียเมื่อวันศุกร์ ล่าสุดพบผู้เสียชีวิตแล้ว 832 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บราว 540 คน
ทั้งนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากคาดว่ายังมีอีกหลายคนที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังของโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และอาคารบ้านเรือน
-- นายโมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน เปิดเผยว่า ธนาคารกลางของ 7 ประเทศในยุโรปพร้อมทำธุรกรรมกับอิหร่าน แม้ว่าสหรัฐจะประกาศคว่ำบาตรอิหร่านก็ตาม
สำนักข่าว Tasnim ของอิหร่านรายงานว่า ธนาคารเหล่านี้เตรียมจัดตั้งกลไกพิเศษขึ้นมาเพื่อรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินกับอิหร่าน เมื่อมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินที่สหรัฐประกาศใช้กับอิหร่านมีผลบังคับใช้ในเดือนพ.ย.
ทั้งนี้ นายซารีฟเปิดเผยว่า กลไกดังกล่าวจะช่วยให้สถาบันการเงินที่ทำธุรกรรมกับอิหร่านรอดพ้นจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ
-- คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) เปิดเผยว่า นายอีลอน มัสก์ เตรียมลงจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทเทสลาภายในเวลา 45 วัน ขณะเดียวกัน ตัวเขาเองและบริษัทต้องจ่ายค่าปรับ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โทษฐานปั่นราคาหุ้น
อย่างไรก็ดี นายมัสก์จะดำรงตำแหน่งซีอีโอของเทสลาต่อไป
ก่อนหน้านี้ SEC ได้ยื่นฟ้องนายมัสก์ ฐานจงใจหลอกลวงนักลงทุน ด้วยการทวีตข้อความเมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า เขามีแผนที่จะนำบริษัทเทสลาออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาด โดยเขามีแหล่งเงินทุนที่จะเข้าซื้อหุ้นในราคา 420 ดอลลาร์ ซึ่งข่าวนี้ส่งผลให้ราคาหุ้นเทสลาพุ่งขึ้นแตะ 387.46 ดอลลาร์ในวันดังกล่าว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
SEC ระบุในคำร้องที่ยื่นต่อศาลรัฐบาลกลางนิวยอร์กว่า นายมัสก์ไม่สามารถรับประกันหรือยืนยันถึงแหล่งที่มาของเงินทุนตามที่ระบุไว้ในทวิตเตอร์ได้ ซึ่งถือเป็นการเจตนาให้ข้อมูลเท็จแก่นักลงทุน
-- เฟซบุ๊ก อิงค์ เปิดเผยว่า บริษัทตรวจพบปัญหาด้านความปลอดภัยที่เปิดช่องโหว่ให้แฮกเกอร์เข้าถึงข้อมูลของบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กเกือบ 50 ล้านบัญชี
สื่อโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ระบุในแถลงการณ์ว่า ทีมวิศวกรของเฟซบุ๊กตรวจพบเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ผู้โจมตีได้อาศัยช่องโหว่ในฟีเจอร์ "View As" ของเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่ทำให้เห็นว่าคนอื่นๆ มองเห็นหน้าโปรไฟล์ของตนเองอย่างไร
แถลงการณ์ผ่านบล็อกระบุว่า ช่องโหว่ดังกล่าวเปิดทางให้แฮกเกอร์เข้ามาขโมยโทเคน หรือกุญแจดิจิทัล เพื่อเจาะเข้าบัญชีผู้ใช้คนอื่นได้ อย่างไรก็ดี ขณะนี้เฟซบุ๊กได้ทำการรีเซ็ตโทเคนของบัญชีผู้ใช้ 50 ล้านบัญชีที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงอีก 40 ล้านบัญชีที่ใช้ฟีเจอร์ "View As"
ด้านซีอีโอ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กล่าวผ่านบัญชีเฟซบุ๊กของตนเองว่า บริษัทได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้วในคืนวันพฤหัสบดี เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้โจมตี หรือใครก็ตาม เข้ามาขโมยโทเคนได้
-- จับตาข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในวันนี้ โดยเยอรมนีจะเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนก.ย. ขณะที่มาร์กิตจะเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนก.ย.ของเยอรมนี ฝรั่งเศส ยูโรโซน และสหรัฐ ส่วนทางการสหรัฐจะเปิดเผยการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนส.ค. และดัชนีภาคการผลิตเดือนก.ย.
ส่วนในวันพรุ่งนี้ เกาหลีใต้จะเปิดเผยความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนก.ย., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. และยอดค้าปลีกเดือนส.ค. ขณะที่ธนาคารกลางออสเตรเลียประชุมนโยบายการเงิน และแถลงมติอัตราดอกเบี้ย ส่วนทางการญี่ปุ่นจะเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. และสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือนก.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM)