Economic Watch:รอยเตอร์และS&P Global Plattsชี้ศก.โลกผันผวนกระทบตลาดน้ำมันโลกขณะที่แนวโน้มการใช้น้ำมันในเอเชียโตต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 10, 2018 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

แคลรา เฟอร์เรรา มาร์เคส ผู้ช่วยบรรณาธิการจากเบรกกิงวิวส์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ เปิดเผยในระหว่างงานสัมมนาหัวข้อ OIL AND PETROCHEMICAL MARKET UPDATE, EVOLVING MARKETS IN THAILAND AND ASIA ว่า ท่ามกลางสถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า สงครามการค้า ผลกระทบจากวิกฤตทางการเงินของตุรกี วิกฤตเศรษฐกิจในอาร์เจนตินา รวมถึงการคว่ำบาตรอิหร่าน ส่งผลให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย ซึ่งรวมถึงประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มาร์เคส กล่าวว่า สถานการณ์โลกในปัจจุบันส่งผลให้เศรษฐกิจของบรรดาประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อค่าเงินของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียอีกด้วย โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก จะได้รับผลกระทบที่หนักกว่า

มาร์เคสกล่าวว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่ที่สถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ที่สุดในอาเซียน โดยมีหนี้สาธารณะสูง สกุลเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงอย่างหนัก ส่วนเศรษฐกิจของไทยยังคงทรงตัว ส่วนค่าเงินบาทก็ไม่ได้มีความเคลื่อนไหวที่ดีนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัว ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ก็กำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ

ส่วนแนวโน้มของสถานการณ์ในตลาดน้ำมันโลกนั้น เด็กซ์เตอร์ หวัง บรรณาธิการ ฝ่ายการพัฒนาของตลาดน้ำมันในภูมิภาคจาก S&P Global Platts เปิดเผยว่า แม้ว่าในปัจจุบันยอดการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) จะฟื้นตัวแล้ว แต่ยอดส่งออกก็ยังคงลดลง ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า ซาอุดิอาระเบียจะเพิ่มการผลิตน้ำมันได้หรือไม่ ส่วนการผลิตน้ำมันของเวเนซุเอลานั้นไม่มีท่าทีว่าจะฟื้นตัวขึ้น ในขณะที่การคว่ำบาตรอิหร่านอาจทำให้อิหร่านผลิตและส่งออกน้ำมันได้น้อยลง ขณะการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ของสหรัฐอาจปรับตัวขึ้น

อย่างไรก็ดี หวัง มองว่า สิ่งที่น่าจับตาต่อไปสำหรับสถานการณ์น้ำมันโลกก็คือ เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงอาจทำให้อุปสงค์น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลชะลอตัวลงต่อไป ในขณะที่ความตึงเครียดด้านการค้าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าและอุปสงค์น้ำมัน นอกจากนี้ การใช้มาตรการใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ในปี 2563

เฮนนิง กลอยสไตน์ บรรณาธิการข่าวพลังงานประจำเอเชียของสำนักข่าวรอยเตอร์ เปิดเผยในงานเดียวกันนี้ว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่มีการใช้น้ำมันมากที่สุดในโลก แต่ในอนาคตความต้องการน้ำมันในเอเชียอาจปรับตัวลดลง อันเป็นผลจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันและการอ่อนค่าของค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ เช่น อินเดียและอินโดนีเซีย

ขณะนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะได้รับปัจจัยหนุนจากการที่การผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกลดลง อิหร่านถูกคว่ำบาตร และความต้องการน้ำมันยังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการน้ำมันในเอเชีย ซึ่งมีสัดส่วนการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 27% เมื่อปี 2543 เป็น 35% เมื่อเทียบกับทั่วโลก ขณะเดียวกันความต้องการน้ำมันในยุโรปและอเมริกาเหนือได้ปรับตัวลดลง

แม้เอเชียจะมีปริมาณการใช้น้ำมันขึ้นแท่นอันดับหนึ่งของโลก และคาดว่า แนวโน้มดังกล่าวจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในขณะเดียวกัน เอเชียกลับมีการผลิตน้อยที่สุด ส่งผลให้เอเชียมีช่องว่างด้านอุปทานน้ำมัน (oil supply gap) ที่กว้างที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ตะวันออกกลางและแอฟริกาที่มีการผลิตมากกว่าการใช้ ซึ่งทางรอยเตอร์สคาดการณ์ว่า เอเชียต้องเสียเงินซื้อน้ำมันมากถึงปีละ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ ราคา 80 ดอลลาร์/บาร์เรล)

อย่างไรก็ดี ตัวเลข 1 ล้านล้านดอลลาร์ข้างต้นเป็นเพียงการคำนวณ ณ อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ค่าเงินของหลาย ๆ ประเทศในเอเชียได้อ่อนค่าลงเทียบดอลลาร์สหรัฐ เช่น เงินรูปีอินเดียและเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย อันเป็นผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับประเทศคู่ค้า และปัญหาหนี้สินของตลาดเกิดใหม่ การที่ค่าเงินของหลาย ๆ ประเทศในเอเชียได้อ่อนค่าลงนั้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันที่ซื้อขายด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวสูงขึ้นตามในประเทศเหล่านี้

ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ประกอบกับการอ่อนค่าของสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ เป็นปรากฏการณ์ที่คนในวงการเรียกกันว่า "Oil Price Shock" ท้ายที่สุดจะสร้างความเดือดร้อนแก่ประเทศที่มีรายได้น้อย เพราะประชาชนต้องเสียค่าเชื้อเพลิงมากขึ้นทั้งๆ ที่เดิมทีก็รายได้น้อยอยู่แล้ว ส่งผลให้ประชาชนหันไปใช้น้ำมันที่มีคุณภาพลดลงเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย หรือไม่ก็ลดการใช้น้ำมัน โดยนักวิเคราะห์จากหลาย ๆ สำนักต่างคาดการณ์กันว่า ความต้องการน้ำมันในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้านี้จะปรับตัวลดลงอย่างหนัก แม้ในเอเชียที่มีปริมาณการใช้น้ำมันสูงก็ตาม สถานการณ์นี้ได้ปรากฏให้เห็นแล้วในประเทศอินเดีย ซึ่งเกษตรกรได้ออกมาประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลปรับลดราคาน้ำมันลง เพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนการขนส่งที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ขณะที่กลุ่มโรงกลั่นในอินเดียเล็งลดการนำเข้าน้ำมันดิบ โดยหวังที่จะใช้น้ำมันในสต็อกจนกว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ