ผู้ว่าแบงก์ชาติจีนเรียกร้องทั่วโลกร่วมมือหาทาง "แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์" เพื่อยุติสงครามการค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday October 14, 2018 16:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอี้ กัง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBOC) ออกมาเรียกร้องถึงแนวทางที่สร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ โดยกล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศกำลังส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า การแสดงความเห็นของผู้ว่าการธนาคารกลางจีนครั้งนี้ มีขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวที่ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน อาจเจรจากันนอกรอบการประชุม G20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งอาจช่วยยุติการทำสงครามการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ

นายอี้กล่าวระหว่างการอภิปรายนอกรอบการประชุมประจำปีของ IMF และธนาคารโลก ที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซียในวันนี้ว่า "ผมคิดว่าเราได้แสดงให้เห็นด้วยความจริงใจแล้วว่า เราเต็มใจที่จะหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ เพราะแนวทางแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ย่อมดีกว่าสงครามการค้า ซึ่งรังแต่จะสร้างความสูญเสียให้กับทุกฝ่าย"

เขาเสริมว่า "เราต่างก็ตระหนักถึงผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากความตึงเครียดทางการค้า ดังนั้นทุกประเทศทั่วโลกจึงต้องหันมาร่วมมือกันเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์"

ทั้งนี้ ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากปธน.ทรัมป์ได้มุ่งความสนใจไปที่การแก้ปัญหาการขาดดุลการค้ากับจีน โดยได้ยิงกระสุนนัดแรกออกมา ด้วยการประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมเมื่อเดือนมี.ค. ก่อนจะค่อยๆเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอื่นๆ จากจีนเพิ่มเติมในเวลาต่อมา

ขณะจีนก็ออกมาตอบโต้สหรัฐด้วยวิธีการแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ด้วยการประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐคิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์

นายอี้ระบุว่า แม้จีนจะมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐ แต่จีนก็ขาดดุลด้านการบริการกับสหรัฐเพิ่มขึ้นมาตลอด

จากข้อมูลของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) พบว่า ในปี 2560 สหรัฐมียอดขาดดุลการค้ากับจีนคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 3.354 แสนล้านดอลลาร์ โดยเป็นการขาดดุลทางการค้า 3.756 แสนล้านดอลลาร์ และเกินดุลในด้านการบริการ 4.02 หมื่นล้านดอลลาร์

นายอี้กล่าวว่า รัฐบาลจีนกำลังดำเนินการในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นหนี่งในประเด็นสำคัญที่ทรัมป์ได้หยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์จีน ขณะที่การขาดดุลด้านการบริการของจีนกับสหรัฐส่วนใหญ่มาจากค่าลิขสิทธิ์ที่บริษัทจีนต้องจ่ายให้กับสหรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ