World Today: สรุปประเด็นน่าติดตามประจำวันที่ 19 ตุลาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 19, 2018 09:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ โดยได้รับแรงกดดันจากปัจจัยลบทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งรวมถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ความความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างสหรัฐและซาอุดีอาระเบีย ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และปัญหาการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลอิตาลี โดยความวิตกกังวลในเรื่องเหล่านี้ได้ฉุดหุ้นกลุ่มต่างๆร่วงลงเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มสินค้าผู้บริโภค

-- ความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่างสหรัฐและซาอุดีอาระเบียยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างความวิตกกังวลต่อตลาด สืบเนื่องมาจากกรณีการหายตัวไปของนายจามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวซาอุดีอาระเบีย โดยล่าสุดนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ ได้ตัดสินใจยกเลิกการเข้าร่วมงานประชุม Future Investment Initiative (FII) ที่กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย แม้ว่าก่อนหน้านี้เขายืนยันว่าจะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ขณะที่นายไมค์ ปอมเปโอ รมว.ต่างประเทศสหรัฐได้เสนอให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กดดันรัฐบาลซาอุดีอาระเบียด้วยการให้เวลาอีก 2-3 วันในการเสร็จสิ้นการสอบสวนกรณีการหายตัวไปของนายคาช็อกกี

-- นักลงทุนเริ่มกลับมาวิตกกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอีกครั้ง หลังจากนายแลร์รี คุดโลว์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า การเจรจาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการค้ากับจีนยังคงไม่มีความคืบหน้า พร้อมกับระบุว่า จีนทำการค้าอย่างไม่ยุติธรรม และขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐอย่างผิดกฎหมาย โดยการเปิดเผยของนายคุดโลว์มีขึ้นก่อนการพบปะกันระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงนอกรอบการประชุม G20 ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ในวันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค.

-- นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังจากเฟดเปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 25-26 ก.ย. โดยระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า เฟดจำเป็นต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจสหรัฐ และควบคุมอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงจากภาวะไร้สมดุลทางการเงิน ส่วนการประชุมในวันดังกล่าวนั้น คณะกรรมการเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.

-- สถานการณ์ด้านงบประมาณของอิตาลียังเป็นอีกปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อตลาด หลังจากคณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกมาเตือนรัฐบาลอิตาลีในเรื่องการขาดดุลงบประมาณ ขณะที่ Der Spiegel ซึ่งเป็นสื่อของเยอรมนี รายงานว่า สหภาพยุโรป (EU) ได้ปฏิเสธแผนการใช้จ่ายของรัฐบาลอิตาลี โดยรัฐบาลอิตาลีต้องการเพิ่มตัวเลขขาดดุลงบประมาณสู่ระดับ 2.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปีหน้า ขณะที่ EU เรียกร้องให้อิตาลีดำเนินการไปสู่การมีงบประมาณสมดุล เนื่องจากอิตาลีมีหนี้ในภาครัฐจำนวนมาก

-- ค่าเงินหยวนดิ่งลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 21 เดือนเมื่อเทียบดอลลาร์เมื่อวานนี้ จากการที่สหรัฐไม่ได้ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่มีพฤติกรรมบิดเบือนค่าเงิน ส่งผลให้นักลงทุนกดดันหยวนให้อ่อนค่าลงต่อไป นอกจากนี้ หยวนยังถูกกดดันจากดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป

-- นายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายเฟดภายใต้การนำของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดคนปัจจุบัน ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ หรือแตกต่างจากที่ประธานเฟดคนอื่นๆได้ประสบมาก่อนหน้านี้

"สิ่งดีที่สุดที่คุณทำได้ขณะทำงานในเฟดก็คือใส่ที่อุดหู และทำเป็นไม่ได้ยินอะไร ผมทำงานในเฟดเป็นเวลา 18 ปีครึ่ง ผมได้รับทั้งโน๊ต และคำขอร้องมากมายให้เฟดลดดอกเบี้ย แต่ไม่มีสักครั้งที่คนในแวดวงการเมืองจะบอกให้เราขึ้นดอกเบี้ย เพราะอยู่ในระดับต่ำเกินไป" นายกรีนสแปนกล่าว

-- หนังสือพิมพ์เยนิ ซาฟัค ซึ่งให้การสนับสนุนรัฐบาลตุรกี รายงานว่า นายจามาล คาช็อกกี นักข่าวซาอุดิอาระเบีย ได้ถูกทรมานอย่างโหดเหี้ยมก่อนถูกสังหารระหว่างการสอบสวนที่สถานกงสุลซาอุดิอาระเบียประจำนครอิสตันบูล

รายงานยังระบุด้วยว่า นายเมชาล ซาอัด อัล-บอสตานี ซึ่งเป็น 1 ในผู้ต้องสงสัยจำนวน 15 คนที่คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายจามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวซาอุดิอาระเบีย ได้เสียชีวิตแล้วจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่กรุงริยาด ซาอุดิอาระเบีย

-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 210,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ใกล้ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2512 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงสู่ระดับ 212,000 ราย

ทางด้าน Conference Board เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ Leading Economic Index (LEI) ปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนต.ค. ซึ่งดีดตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยดัชนี LEI ถือเป็นสิ่งบ่งชี้ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยคำนวณจากตัวเลขเศรษฐกิจ 10 รายการ ซึ่งรวมถึง คำสั่งซื้อใหม่ของภาคการผลิต, ราคาหุ้น และตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน

-- นักลงทุนจับตาสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) ซึ่งมีกำหนดเปิดเผยยอดขายบ้านมือสองประจำเดือนก.ย. ในวันนี้ เวลา 21.00 น.ตามเวลาไทย

ทางการจีนมีกำหนดรายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนก.ย. ยอดค้าปลีกเดือนก.ย. และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 เวลา 09.00 น.

สำหรับข้อมูล GDP ครั้งล่าสุดที่มีการเปิดเผย สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยเมื่อเดือนก.ค.ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2/2561 ขยายตัว 6.7% ซึ่งชะลอตัวลงจากไตรมาส 1 ที่ขยายตัว 6.8%

แม้ GDP ไตรมาส 2 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาส 1 แต่ก็นับเป็นไตรมาสที่ 12 ติดต่อกันที่ GDP ของจีนขยายตัวในกรอบ 6.7-6.9%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ