นักเศรษฐศาสตร์ ECB เตือนอิตาลีดึงดันปรับเพิ่มตัวเลขขาดดุลงบประมาณ จะกระทบเศรษฐกิจระยะยาว

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 23, 2018 16:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปีเตอร์ แพรท หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารกลางยุโรป (ECB) เตือนว่า ความไม่แน่นอนและความตึงเครียดจากความเสี่ยงที่เกิดจากปรับเพิ่มการขาดดุลงบประมาณของอิตาลี จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

การแสดงความเห็นดังกล่าวมีขึ้น ในขณะที่อิตาลีและสหภาพยุโรป (EU) กำลังเกิดข้อขัดแย้งระหว่างกัน หลังจาก EU ปฏิเสธที่จะให้การรับรองงบประมาณประจำปี 2562 ของอิตาลี ซึ่งรัฐบาลได้เพิ่มตัวเลขขาดดุลงบประมาณสู่ระดับ 2.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยให้เหตุผลว่าร่างงบประมาณดังกล่าวขัดต่อกฎหมายทางการเงินของ EU พร้อมเรียกร้องให้อิตาลีดำเนินการไปสู่การมีงบประมาณสมดุล เนื่องจากอิตาลีมีหนี้ภาครัฐจำนวนมาก

คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของ EU ออกแถลงการณ์ระบุว่า "เรามีความเสียใจที่จะต้องยืนยันการประเมินของเราที่ว่า ร่างงบประมาณของอิตาลีไม่ได้สอดคล้องกับข้อเสนอของ EU ที่ให้ไว้ในวันที่ 13 ก.ค."

นอกจากนี้ EC ยังเตรียมเปิดกระบวนการพิจารณาลงโทษกรณีประเทศสมาชิกมีการขาดดุลงบประมาณมากกว่าที่กำหนดไว้ (EDP)

ทั้งนี้ การดำเนินกระบวนการ EDP จะทำให้อิตาลีต้องเปิดเผยมาตรการปรับลดการขาดดุลงบประมาณ รวมทั้งกำหนดเส้นตายในการบรรลุเป้าหมาย ซึ่งหากอิตาลีไม่ดำเนินการดังกล่าว ก็อาจถูก EC สั่งปรับ

เมื่อเดือนที่แล้ว EC ได้ปฏิเสธข้อเสนอร่างงบประมาณประจำปี 2562 ของรัฐบาลอิตาลี โดยระบุว่า ร่างงบประมาณดังกล่าวขัดต่อกฎหมายทางการเงินของ EU หลังจากที่รัฐบาลอิตาลีได้เพิ่มตัวเลขขาดดุลงบประมาณสู่ระดับ 2.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2562 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขขาดดุลงบประมาณ 0.8% ของ GDP ของรัฐบาลชุดเดิม

ทั้งนี้ EU กำหนดให้ประเทศใน EU มีตัวเลขขาดดุลงบประมาณไม่เกิน 3% ของ GDP อย่างไรก็ดี EU เรียกร้องให้อิตาลีดำเนินการไปสู่การมีงบประมาณสมดุล เนื่องจากอิตาลีมีหนี้ในภาครัฐจำนวนมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ