หอการค้ายุโรป (EuroCham) ประจำกัมพูชา ได้แสดงความกังวลหลังจากที่สหภาพยุโรป (EU) ได้เริ่มกระบวนการพิจารณายกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้าต่อกัมพูชา เนื่องจากไม่พอใจกับประวัติด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิของแรงงาน และการดำเนินการด้านประชาธิปไตย
ที่ผ่านมา กัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า "Everything but Arms" (EBA) จาก EU ซึ่งหมายความว่า กัมพูชาสามารถส่งออกสินค้าไปยัง EU ได้ทุกรายการโดยไม่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า ยกเว้นอาวุธ
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หอการค้ายุโรปประจำกัมพูชา เป็นตัวแทนบริษัทรวมกันกว่า 350 แห่งในกัมพูชา
แถลงการณ์ระบุว่า "ในฐานะที่เป็นกระบอกเสียงของแวดวงการลงทุนและธุรกิจขนาดใหญ่ในกัมพูชา ทางหอการค้ายุโรปมีความกังวลอย่างยิ่งต่อผลลบที่เกิดจากการตัดสินใจครั้งนี้ อาจมีต่อการทำธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคตระหว่างสหภาพยุโรปกับกัมพูชา"
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า การตัดสินใจที่ว่านี้ไม่ได้เข้ามาบั่นทอนความสำเร็จทั้งในอดีตและอนาคตของความร่วมมือระหว่างสองประเทศเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อโครงการพัฒนาอื่นๆ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรปตลอดเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมาด้วย ซึ่งโครงการเหล่านี้ได้เข้ามาช่วยยกระดับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของชาวกัมพูชากว่าหลายล้านคน
อาร์โนลด์ ดาร์ก ประธานหอการค้ายุโรปประจำกัมพูชา กล่าวว่า "เรามีความกังวลอย่างยิ่งว่า กระบวนการสืบสวนนี้จะส่งสัญญาณผิดๆ เกี่ยวกับโอกาสของตลาดกัมพูชาต่อว่าที่นักลงทุนภาคการผลิตในปี 2562 และหากมีการยกเลิกสิทธิพิเศษจริงในปี 2563 แล้ว สิ่งนี้จะกระทบต่อหน้าที่การงานของประชาชนหลายแสนคน ซึ่งมักจะเป็นผู้หญิง"
ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวจะใช้เวลา 18 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนส.ค. 2563