ผู้เชี่ยวชาญมองว่า เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างแข็งแกร่งมาเป็นเวลาหลายปี ซึ่งอาจเป็นเพราะ "ปาฏิหาริย์" ที่ยักษ์ใหญ่ในเอเชียอย่างจีนสามารถทำได้ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยเฉลี่ยของจีนขยายตัว 9.5% ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกันที่ระดับ 2.9%
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนไม่ได้เป็นปัจจัยฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนระบุในรายงานกรอบการดำเนินงานในการเปิดประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ชุดที่ 13 ครั้งที่ 2 ในเช้าวันนี้ว่า จีนกำหนดเป้าหมายการขยายตัวของ GDP ในปีนี้ไว้ที่ 6-6.5%
ในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนขยายตัว 6.6% สูงกว่าเป้าหมายของทางการ แต่ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวที่ 6.8% ในปี 2560
ผู้เชี่ยวชาญบางรายวิตกว่า เศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่สุดเป็นอันดับสองของโลก อาจจะเผชิญกับภาวะ "ชะลอตัวรุนแรง" (hard landing)
อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลง แต่ก็ยังคงขยายตัวในอัตรากลาง-สูง โดยมูลค่าทางขยายตัวสู่ระดับมากกว่า 90 ล้านล้านหยวน (13.3 ล้านล้านดอลลาร์) ในปี 2561 ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่น่าประทับใจท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา
เหตุผลสำคัญสำหรับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจก็คือ รัฐบาลจีนได้เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ถูกผลักดันโดยการลงทุนและการส่งออก ไปเป็นรูปแบบที่ยั่งยืนมากขึ้น ด้วยการพึ่งพาความแข็งแกร่งมาจากการบริโภค การบริการ และนวัตกรรม
รูปแบบดังกล่าวเป็นผลของการปรับตัวตามธรรมชาติ และเป็นทางเลือกเชิงรุกในการสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและยั่งยืนที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งประเทศและประชาชน
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ให้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม พร้อมกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ๆ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนเปิดเผยว่า ในปีที่แล้ว อุตสาหกรรมบริการ (tertiary industry) มีสัดส่วนสูงถึง 52.2% ของ GDP จีน และการใช้จ่ายของผู้บริโภคคิดเป็นสัดส่วน 76.2% ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ในการปฏิรูปโครงสร้างอย่างต่อเนื่องสำหรับการพัฒนาในระยะยาว จีนได้นำนโยบายการคลังและการเงินแบบสวนทางกับวัฏจักรมาใช้ เพื่อรับมือกับแรงกดดันช่วงขาลงในระยะสั้น
ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง 4 ครั้งในปี 2561 และประกาศปรับลดลงอีก 1.00% เมื่อวันที่ 4 ม.ค.เพื่อขยายช่องทางทางการเงินสำหรับธุรกิจต่างๆ นโยบายต่างๆ ซึ่งรวมถึงการปรับลดอัตราภาษีสำหรับภาคเอกชน และการปรับลดระเบียบขั้นตอนทางราชการสำหรับภาคธุรกิจ จะช่วยสนับสนุนการลงทุนและส่งเสริมสภาวะที่น่าพอใจสำหรับนักลงทุน
ขณะเดียวกัน จีนต้องดำเนินนโยบายการเงินที่รอบคอบในการรักษากฏระเบียบระดับมหภาค เพื่อผลักดันการสร้างสมดุลสำหรับเป้าหมายนโยบายที่หลากหลาย
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องรักษาทิศทางของเศรษฐกิจ มากกว่าการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เพื่อสร้างเสถียรภาพในด้านต่างๆ มากขึ้น รวมถึงการจ้างงาน ตลาดการเงิน การค้าต่างประเทศ การลงทุนต่างประเทศ การลงทุนในประเทศ และความคาดหวัง
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เศรษฐกิจจีนก็ยังไม่รอดพ้นจากความท้าทายต่างๆ
นายหลี่ระบุในรายงานในวันนี้ว่า เศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญกับปัญหาต่างๆ อาทิ การขยายตัวด้านการบริโภคที่ชะลอตัวลง ความยากลำบากทางการเงินสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม รวมถึงการขาดแคลนเทคโนโลยีที่สำคัญบางอย่าง อย่างไรก็ตาม นายหลี่ยังแสดงความเชื่อมั่นที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้
ความเชื่อมั่นดังกล่าวมีรากฐานจากความสามารถเชิงระบบของจีนในการปรับนโยบายเศรษฐกิจและการบริหารความเสี่ยงทางการเงินรวมถึงปัจจัยพื้นฐานและความคาดหวังทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ขณะนี้จีนได้ตั้งเป้าหมายใหม่สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมกับการปฏิญาณครั้งใหม่เพื่อผลักดันการปฏิรูปและการเปิดกว้าง ซึ่งจะช่วยรับประกันว่าภาวะเศรษฐกิจจีนมีคุณภาพสูง