กฎหมายปฏิรูปแรงงานของญี่ปุ่นซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันนี้ ได้มีการกำหนดให้จำกัดชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน เพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานมากจนเกินไปของประเทศ ซึ่งถูกมองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิต
ข้อกำหนดในการจำกัดชั่วโมงทำงานนั้น จะมุ่งเป้าไปที่บริษัทขนาดใหญ่ในขณะนี้ก่อนเท่านั้น และถือเป็นหนึ่งในสามเสาหลักของการปฏิรูปแรงงานจากการผลักดันของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ซึ่งกำลังเผชิญความยากลำบากในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้ได้กลายมาเป็นปัญหาสำคัญของทุกภาคอุตสาหกรรมในประเทศ
กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ลูกจ้างสามารถทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกิน 45 ชั่วโมงต่อเดือน และ 360 ชั่วโมงต่อปี โดยระยะเวลาการทำงานล่วงเวลาอาจขยายออกไปได้อีกในช่วงที่จำเป็น แต่ต้องไม่เกิน 6 เดือนต่อปี
อย่างไรก็ดี มีบางกรณีที่อนุญาตให้สามารถทำงานล่วงเวลาได้สูงสุดที่ 100 ชั่วโมงต่อเดือน และ 720 ชั่วโมงต่อปี
สำหรับบริษัทที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้จะถูกลงโทษเป็นค่าปรับที่อาจสูงถึง 300,000 เยน (2,700 ดอลลาร์สหรัฐ)
นอกจากนี้ รัฐบาลยังประกาศใช้ระบบวีซ่าแบบใหม่ในวันนี้ เพื่อดึงดูดให้แรงงานต่างชาติให้เข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น ท่ามกลางปัญหาตลาดแรงงานของญี่ปุ่น ซึ่งทำให้บริษัทต่างๆต้องพยายามรักษาแรงงานเอาไว้ท่ามกลางอายุขัยเฉลี่ยของประชากรที่กำลังเพิ่มขึ้น
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กในเดือนเมษายนปีหน้า ขณะที่บางอาชีพในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานมากกว่าภาคอื่นๆ เช่น คนงานก่อสร้าง คนขับรถบรรทุก และหมอ จะได้รับการยกเว้นเป็นเวลา 5 ปี