Spotlight: IMF ลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2562 ขยายตัว 3.3% เตือนความเสี่ยงขาลง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 10, 2019 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2562 ลงสู่ระดับ 3.3% โดยลดลง 0.2% จากตัวเลขคาดการณ์ครั้งก่อนเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา

IMF ระบุในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) ว่า เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับความเสี่ยงขาลงที่เกิดจากความไม่แน่นอนของภาวะตึงเครียดด้านการค้าโลก รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเฉพาะประเทศ และภูมิภาค

การคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

IMF คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ระดับ 3.3% สำหรับปี 2562 ซึ่งต่ำกว่าระดับของปี 2561 อยู่ 0.3% และคาดว่า เศรษฐกิจโลกจะกระเตื้องกลับขึ้นสู่ระดับ 3.6% ในปี 2563 รายงาน WEO ระบุว่า IMF คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วปี 2562 ที่ระดับ 1.8% และ 1.7% สำหรับปี 2563 ซึ่งต่ำกว่าสถิติที่เคยสูงกว่า 2% ของเมื่อ 2 ปีก่อน

สำหรับตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนานั้น IMF คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะลดลงสู่ 4.4% ในปี 2562 โดยลดลง 0.1% จากปี 2561 และการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะดีดตัวขึ้นสู่อัตรา 4.8% ในปี 2563 เท่ากับระดับของการขยายตัวในปี 2560

นางกิตา โกปินาธ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF คาดว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ จะเกิดขึ้นในวงกว้าง

"การคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงการปรับลดตัวเลขคาดการณ์สำหรับเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่หลายแห่ง รวมถึงในเขตยูโรโซน ละตินอเมริกา สหรัฐ สหราชอาณาจักร แคนาดา และออสเตรเลีย" นางโกปินาธกล่าว

นางโกปินาธระบุว่า เศรษฐกิจได้สูญเสียแนวโน้มการขยายตัวมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 เมื่อเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากการขยายตัวที่อ่อนแอลงอย่างมาก โดยรายงาน WEO ระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงแข็งแกร่งที่ระดับ 3.8% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 แต่ลดลงสู่ 3.2% ในช่วงครึ่งปีหลัง

นางโกปินาธระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความตึงเครียดด้านการค้าทั่วโลก ความตึงเครียดด้านเศรษฐกิจมหภาคในอาร์เจนตินาและตุรกี ผลกระทบต่อภาคยานยนต์ในเยอรมนี และการคุมเข้มด้านการเงิน ควบคู่ไปกับการปรับนโยบายการเงินให้เป็นปกติในประเทศที่พัฒนาแล้ว

ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในปี 2563 นางโกปินาธระบุว่า การคาดการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง โดยเสริมว่า การคาดการณ์ดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ว่า "เศรษฐกิจจะดีดตัวขึ้นในตลาดเกิดใหม่ และในประเทศกำลังพัฒนา"

นางโกปินาธระบุว่า เศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้นจะได้รับแรงหนุนจากการที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ผ่อนคลายนโยบายการเงินลงอย่างมาก ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจากไม่มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ แม้เศรษฐกิจขยายตัวใกล้ระดับศักยภาพก็ตาม"

นางโกปินาธระบุถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดยืนที่ผ่อนคลายมากขึ้นในด้านนโยบายของธนาคารกลางของสหรัฐ สหภาพยุโรป (EU) ญี่ปุ่น และอังกฤษ รวมถึงการที่จีนเพิ่มมาตรการกระตุ้นด้านการเงินและการคลัง ตลอดจนแนวโน้มเชิงบวกสำหรับการทำข้อตกลงระหว่างสหรัฐ-จีน เพื่อแก้ไขความขัดแย้งด้านการค้า

นางโกปินาธกล่าวว่า การรับมือด้วยนโยบายเหล่านี้ ได้ช่วยพลิกผันภาวะการเงินที่ตึงตัวไปสู่ระดับที่หลากหลายในประเทศต่างๆ สนับสนุนแนวโน้มที่ต่อเนื่องในตลาดเกิดใหม่ต่างๆ อาทิ การฟื้นฟูกระแสการลงทุน ต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลง และการแข็งค่าของสกุลเงินต่างๆ เมื่อเทียบกับดอลลาร์

นางโกปินาธเปิดเผยในการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ว่า นโยบายการเงินจะมีความหลากหลายในประเทศต่างๆ และสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วจำนวนมาก นโยบายการเงินจะยังคงอยู่ในวงจำกัด

"เราคาดว่า จะได้เห็นการใช้เครื่องมือการเงินพิเศษๆ ยกตัวอย่างเช่น ในเขตยูโรโซน" นางโกปินาธกล่าว โดยเสริมว่า แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ที่ระดับต่ำเป็นปัจจัยเสริม ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น

หลังจากปี 2563 นั้น รายงาน WEO คาดว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ราว 3.6% ในระยะกลาง

การคาดการณ์เฉพาะภูมิภาค

WEO รายงานอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนที่ 1.3% ในปี 2562 และ 1.5% ในปี 2563 แต่ลดลงต่ำกว่าระดับของปี 2561 และ 2560

รายงานระบุว่า ความเสี่ยงขาลงของ EU ในวงกว้างนั้น รวมถึงภาวะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอิตาลี ซึ่งจะถ่วงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และทำให้สถานะหนี้สินย่ำแย่ลง ความเป็นไปได้มากขึ้นที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) แบบไร้ข้อตกลง รวมถึงผลการเลือกตั้งของรัฐสภายุโรป ซึ่งจะชะลอหรือขัดขวางความคืบหน้าในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับยูโรโซน

รายงานระบุว่า Brexit แบบไร้ข้อตกลงซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทาน และเพิ่มต้นทุนการค้านั้น อาจส่งผลกระทบเชิงลบที่รุนแรง และยืดเยื้อต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป

นางโกปินาธแสดงความเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจอิตาลีในการแถลงข่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจอิตาลีในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 อยู่ในระดับที่อ่อนแออย่างมาก และภาวะอ่อนแอดังกล่าวจะยืดเยื้อมาจนถึงปีนี้

นางโกปินาธระบุว่า หนี้สินและต้นทุนการกู้ยืมที่ระดับสูงจะถูกสะท้อนให้เห็นด้านการลงทุนที่อ่อนแอ และจะยังคงเป็นความวิตกกังวลสำหรับอิตาลี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาจากการที่เศรษฐกิจอิตาลีขยายตัวอย่างอ่อนแอไม่เพียงแต่ในอัตราที่เป็นจริง แต่ยังรวมถึงอัตราที่ยังไม่ได้หักภาวะเงินเฟ้อ

สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐนั้น IMF คาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัว 2.3% ในปี 2562 และจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงสู่ 1.9% ในปี 2563

รายงานระบุว่า แนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังคงต่ำกว่าการคาดการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่ตลาดจะประเมินแนวโน้มนโยบายอีกครั้ง หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง

"ภาวะดังกล่าวอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐเพิ่มขึ้น ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอีกครั้ง และภาวะการเงินตึงตัวขึ้นสำหรับตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงภาวะงบดุลบัญชีที่เปราะบาง" รายงานระบุ

สำหรับจีนนั้น คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 6.3% ในปี 2562 เพิ่มขึ้น 0.1% จากการคาดการณ์ครั้งก่อนในเดือนม.ค. และ คาดว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 6.1% ในปี 2563

นางโกปินาธระบุว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจหลังปี 2563 จะมีเสถียรภาพ โดยได้แรงหนุนส่วนใหญ่จากการขยายตัวของเศรษฐกิจในจีนและอินเดีย และสัดส่วนน้ำหนักรายได้ของสองประเทศนี้ที่เพิ่มขึ้นในรายได้ทั่วโลก

นางโกปินาธกล่าวเสริมว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาจะมีเสถียรภาพที่ระดับ 5% โดยเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในเอเชียยังคงขยายตัวเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงในช่วงขาลงนั้น นางโกปินาธได้เรียกร้องให้สร้างเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเสริมว่าควรหลีกเลี่ยงการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด

"ผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องร่วมงานกันเพื่อช่วยรับประกันว่า ความไม่แน่นอนด้านนโยบายจะไม่ทำให้การลงทุนอ่อนแอลง" นางโกปินาธระบุ "ทุกประเทศจำเป็นจะต้องดำเนินการเพื่อเพิ่มผลผลิตที่เป็นไปได้ ปรับปรุงเรื่องการมีส่วนร่วม และเสริมสร้างความยืดหยุ่น" สำนักข่าวซินหัวรายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ