ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ จะชะลอลงในช่วง 2 ปีข้างหน้า แต่จะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) เมื่อวันที่ 9 เม.ย. คาดว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอลงสู่ระดับ 2.3% ในปีนี้ โดยลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับตัวเลขประมาณการณ์ในเดือนม.ค. และจะลดลงอีกสู่ระดับ 1.9% ในปี 2563 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นด้านการคลังลดน้อยลง
WEO ระบุว่า "การปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2562 สะท้อนถึงผลกระทบจากการปิดหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐ (ชัตดาวน์) และการใช้จ่ายด้านการคลังที่ลดลงมากเกินคาด ขณะที่การปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อยสำหรับปี 2563 สะท้อนถึงท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น"
แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลง แต่ IMF ระบุว่า อัตราการขยายตัวสำหรับปี 2562 ก็ยังอยู่สูงกว่าอัตราแนวโน้มประมาณการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเสริมว่า การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งจะสนับสนุนการนำเข้าเพิ่มขึ้น และจะทำให้ยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดขยายตัวเพิ่มขึ้น
ปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ได้แก่ การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งติดต่อกันในปี 2561 ซึ่งทำให้ภาวะการเงินตึงตัวต่อเนื่อง
เฟดได้เลือกที่จะดำเนินนโยบายที่อดทนมากขึ้น โดยตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับเดิมในการประชุมนโยบาย 2 ครั้งแล้วในปีนี้
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดระบุในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ว่า เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวราว 2% ในปีนี้ โดยมีอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ต่ำกว่า 4% และ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวนนั้น ยังคงอยู่ใกล้ระดับ 2%
นางกิตา โกปินาธ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ระบุในบล็อกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ขณะที่เฟดและธนาคารกลางในบางประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ได้เปลี่ยนท่าทีไปเป็นการดำเนินนโยบายที่ผ่อนคลายมากขึ้นนั้น การดำเนินนโยบายการเงินในอนาคตควรจะขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจ และควรจะมีการสื่อสารเป็นอย่างดี รวมทั้งรับประกันว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง"
ความเสี่ยงอีกประการหนึ่งที่ท้าทายความยั่งยืนของเศรษฐกิจสหรัฐ ได้แก่ ยอดขาดดุลงบประมาณที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น
กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยรายงานแถลงการณ์การคลังรายเดือนเมื่อวันที่ 10 เม.ย.บ่งชี้ว่า ยอดขาดดุลปีงบประมาณปัจจุบันจนถึงขณะนี้อยู่ที่ 6.91 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเกือบ 6 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2561 และทางกระทรวงคาดว่า ยอดขาดดุลจะสูงเกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อปีงบประมาณสิ้นสุดลงในวันที่ 30 ก.ย.
นอกจากนี้ ยอดค้าปลีกที่อ่อนแอ และความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ลดลง ก็เป็นปัจจัยที่ถ่วงการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วย
กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 1 เม.ย.บ่งชี้ว่า ยอดค้าปลีกในสหรัฐลดลง 0.2% สู่ระดับ 5.06 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนก.พ.เมื่อเทียบกับเดือนม.ค.
ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนม.ค. หลังจากร่วงลง 1.6% ในเดือนธ.ค.
นายพาวเวลกล่าวว่า เฟดไม่ได้เพิกเฉยต่อแนวโน้มขาลงของยอดค้าปลีก และ "เฟดยังคงจับตาในเรื่องนี้" โดยระบุเสริมว่า เฟดกำลังจับตาและรอดูอย่างอดทน"
บิสิเนส ราวด์เทเบิล (Business Roundtable) ซึ่งเป็นสมาคมผู้บริหารบริษัทชั้นนำสหรัฐ เปิดเผยดัชนี CEO Business Outlook Index ในไตรมาส 1/2562 ลดลงสู่ 95.2 โดยลดลง 9.2 จุดจากสถิติไตรมาส 4/2561 โดยดัชนีดังกล่าวเป็นมาตรวัดความเชื่อมั่นทางธุรกิจของบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐ
นอกจากนี้ เหล่าซีอีโอดังกล่าว วางแผนการจ้างงานลดลง 11.3 จุด สู่ระดับ 80.4 วางแผนเรื่องการลงทุนด้านทุนที่ลดลง 6.9 จุด สู่ระดับ 91 และการคาดการณ์ยอดขายลดลง 9.6 จุด สู่ระดับ 114
นายทิม ดาย ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยโอเรกอนและผู้เชี่ยวชาญของเฟดระบุในบล็อก Fed Watch ของตนเองเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ไม่มีสิ่งใดที่บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างหนักหน่วงมากกว่านี้
กระทรวงแรงงานเปิดเผยรายงานการจ้างงานเมื่อวันที่ 5 เม.ย.บ่งชี้ว่า อัตราการว่างงานยังคงทรงตัวที่ระดับ 3.8% ในเดือนมี.ค. ขณะที่การจ้างงานเพิ่มขึ้น 196,000 ตำแหน่ง และค่าจ้างรายชั่วโมงเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 27.7 ดอลลาร์
นายดายกล่าวว่า ในภาพรวมนั้น เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาวะ Goldilocks โดยการจ้างงานชั่วคราวชะลอตัว ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาอื่นๆ ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง และอธิบายเพิ่มเติมว่า สถานะเศรษฐกิจของสหรัฐในปัจจุบัน เป็นการชะลอตัว แต่ไม่ถดถอยแต่อย่างใด สำนักข่าวซินหัวรายงาน