ผลสำรวจชี้นักวิเคราะห์ปรับเพิ่มประมาณการ GDP Q1/62 ของสหรัฐ หลังยอดค้าปลีกแกร่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 19, 2019 00:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผลการสำรวจของ CNBC/Moody’s Analytics Rapid Update พบว่า นักวิเคราะห์พากันปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของสหรัฐขึ้นอีก 0.3% สู่ระดับ 2.4% หลังการเปิดเผยยอดค้าปลีกที่พุ่งขึ้น และการเพิ่มขึ้นของสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจ

ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวไม่ถึง 2% ในไตรมาสแรก

ส่วนการสำรวจในช่วงต้นปี พบว่า นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวมากกว่า 1% เพียงเล็กน้อยในไตรมาสแรก โดยได้รับผลกระทบจากภาวะอากาศหนาวเย็น และการปิดหน่วยงานรัฐบาล อันเนื่องจากการขาดแคลนงบประมาณ (ชัตดาวน์)

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขประมาณการเบื้องต้นสำหรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2562 ในวันที่ 26 เม.ย.

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 1.6% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2560 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดค้าปลีกจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.9% ในเดือนดังกล่าว หลังจากที่ร่วงลง 0.2% ในเดือนก.พ.

การเพิ่มขึ้นของยอดค้าปลีกในเดือนมี.ค.ได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของยอดขายรถยนต์ และเสื้อผ้า

เมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 3.6% ในเดือนมี.ค.

ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนมี.ค. หลังจากลดลง 0.3% ในเดือนก.พ.

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐยังเปิดเผยว่า สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.พ. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากพุ่งขึ้น 0.9% ในเดือนม.ค.

สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนม.ค.

ส่วนสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าปลีก โดยไม่รวมหมวดรถยนต์ ซึ่งใช้ในการคำนวณตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนม.ค.

สำหรับสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก.พ.

ส่วนยอดขายสินค้าในภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนก.พ. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนม.ค. และจากยอดขายในเดือนก.พ. เจ้าของธุรกิจจะใช้เวลา 1.39 เดือนในการขายสินค้าจนหมดสต็อก ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนม.ค.

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของสต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจ เป็นสิ่งบ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ว่ายอดขายจะเพิ่มขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ขณะที่การลดลงของสต็อกสินค้าคงคลัง บ่งชี้ถึงความไม่เชื่อมั่นของภาคธุรกิจต่อยอดขายในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ