บรรดานักการเมืองอาวุโสและนักวิจารณ์การเมืองได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐที่เดินทางไปเยือนอังกฤษว่า ปธน.ทรัมป์ได้กระทำการแทรกแซงอย่างน่ารังเกียจต่อการเมืองภายในของอังกฤษ หลังจากที่เขาระบุว่า นายบอริส จอห์นสัน จะเป็น "นายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุด" ของอังกฤษ
ปธน.ทรัมป์ได้ให้การสนับสนุนนายบอริส จอห์นสัน อดีต รมว.ต่างประเทศของอังกฤษอย่างโจ่งแจ้งในระหว่างการเดินทางเยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการ ขณะที่พรรคอนุรักษ์นิยมกำลังดำเนินการสรรหาผู้นำพรรคคนใหม่
บรรดานักการเมืองจากพรรคหลักๆ ทั้งหมดของอังกฤษได้เตือนปธน.ทรัมป์เกี่ยวกับการทำลายการสร้างความเป็นกลางที่ดำเนินมายาวนาน
นายมัลคอม ริฟกินด์ อดีตรมว.ต่างประเทศของอังกฤษเปิดเผยกับสื่อว่า การแสดงความเห็นที่หลงตัวเองและเห็นแก่ตัวของปธน.ทรัมป์ เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และระบุว่า ความเห็นดังกล่าวเท่ากับเป็นการแทรกแซงที่น่ารังเกียจในเรื่องของผู้อื่น
นายเจเรมี คอร์บิน ผู้นำพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของอังกฤษ และ นายวินซ์ เคเบิล ผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตย ก็ได้ออกมาประณามความเห็นดังกล่าวของปธน.ทรัมป์ด้วย
นายคอร์บินกล่าวว่า "ความพยายามของปธน.ทรัมป์ที่จะตัดสินว่า ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนต่อไปนั้น ถือเป็นการแทรกแซงที่ไม่สามารถยอมรับได้ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศเรา"
ความเห็นของปธน.ทรัมป์มีขึ้น ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคอนุรักษ์นิยม 12 คน ลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อแทนที่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งยืนยันที่จะลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมในวันที่ 7 มิ.ย.นี้
ในการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ในกรุงลอนดอน ปธน.ทรัมป์กล่าวว่า ผมเชื่อว่า นายบอริส จอห์นสัน จะทำงานได้อย่างดีมากในฐานะผู้นำของพรรคอนุรักษ์นิยม
ศาสตราจารย์แอนโธนี กลีส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองยุโรปจากมหาวิทยาลัยบัคกิ้งแฮมอธิบายการแทรกแซงการเมืองภายในของอังกฤษของปธน.ทรัมป์ว่าเป็น "สิ่งที่น่าเกลียดชัง"
ศาสตราจารย์กลีส์เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า "การเลือกผู้นำที่ได้รับอิทธิพลอย่างเปิดเผยจากประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งผลักดันนายบอริส จอห์นสันนั้น เป็นเรื่องที่น่ากลัว" โดยเขาระบุว่า ระบบของอังกฤษนั้น นายกรัฐมนตรีไม่ได้ถูกเลือกโดยประชาชนในประเทศ แต่มาจากการลงมติของสมาชิกพรรครัฐบาลเพื่อเลือกผู้นำของเขา
สื่ออังกฤษรายงานว่า ปธน.ทรัมป์คาดว่าจะพบปะกับผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษหลายคนในระหว่างการเดินทางเยือนอังกฤษเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งรวมถึงนายไมเคิล โกฟ รมว.ฝ่ายกิจการด้านสิ่งแวดล้อม อาหาร และ ชนบทของอังกฤษ
ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ปธน.ทรัมป์ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเข้าข้างนักการเมืองอังกฤษในลักษณะที่ไม่เหมาะสม โดยในปี 2559 เขาได้แนะนำว่า นายไนเจล ฟาราจ ผู้นำของกลุ่ม Ukip ควรมาเป็นเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสหรัฐ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ทั้งนี้ ไม่เคยปรากฏมาก่อนที่ประธานาธิบดีสหรัฐจะขอให้ผู้นำโลกแต่งตั้งหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านมาเป็นเอกอัครราชทูต
ศาสตราจารย์เอียน เบกก์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจากโรงเรียนเศรษฐศาสตร์แห่งลอนดอนเปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า ขณะที่ความเห็นของปธน.ทรัมป์อาจไม่ดีสำหรับคนเขียนข่าว แต่ผลกระทบต่อการเมืองอังกฤษอาจจะเป็นไปเพียงชั่วคราว
นายเบกก์กล่าวว่า "นายฟาราจอาจจะยินดีกับการรับรองของทรัมป์ แต่ผมไม่แน่ใจว่า นายบอริส จอห์นสัน อาจจะยินดีน้อยกว่า"
ความเห็นในอังกฤษแตกต่างกันไป โดยบางคนก็บอกว่า การสนับสนุนของปธน.ทรัมป์ต่อนายจอห์นสัน อาจส่งผลกระทบต่อโอกาสของเขาในการคว้าตำแหน่งผู้นำสูงสุดของอังกฤษ
นายแอนดริว มิทเชลล์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแสดงความไม่แน่ใจว่า คำพูดที่ผิดปกติของทรัมป์ อาจจะส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงจำนวนมากในรัฐบาลอังกฤษ
เขากล่าวว่า "เป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นมาก่อน และอาจให้ผลในทางตรงกันข้าม"