นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้กล่าวปกป้องบทบาทด้านการค้าในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่สหรัฐได้เพิ่มความตึงเครียดด้านการค้ากับประเทศคู่ค้าต่างๆ ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
นางลาการ์ดกล่าวในการประชุมซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันวิสาหกิจแห่งอเมริกา (AEI) เมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า เธอไม่คิดว่าระบบพหุภาคีระหว่างประเทศนั้นพึ่งพาการค้ามากเกินไปในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เมื่อพิจารณาจากระดับของการค้าที่มีส่วนช่วยในการปรับปรุงเศรษฐกิจโลกนั้น นางลาการ์ดกล่าวว่า ไม่ควรใส่ใจมากเกินไปกับการเน้นย้ำของสถาบันข้ามชาติ อาทิ IMF ในการส่งเสริมการค้าโลก
นางลาการ์ดกล่าวว่า การสนับสนุนด้านการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจนั้น จะไม่เป็นการกีดกันข่องทางการพัฒนาอื่นๆ อย่างแน่นอน
"เครื่องมือทั้งหมดที่เอื้อต่อการพัฒนาจะต้องถูกนำมาใช้ และต้องไม่กระทบต่อเครื่องมืออื่นๆ แต่ดิฉันคิดว่าการค้าจะยังคงมีบทบาทที่สำคัญต่อไป" นางลาการ์ดกล่าว
ในช่วงเช้าวันพุธ นางลาการ์ดได้โพสต์บทความในบล็อกของ IMF โดยเตือนถึงความวิตกที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะตึงเครียดทางการค้าในปัจจุบันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก การเรียกร้องให้กำจัดอุปสรรคทางการค้าที่มีอยู่ และ ความอดกลั้นต่อการสร้างความตึงเครียดครั้งใหม่
ในบทความหัวข้อ "การช่วยอย่างไร ไม่ให้ขัดขวางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก" นั้น นางลาการ์ดได้เน้นย้ำว่า ความตึงเครียดด้านการค้าโลกกำลังขยายตัวเป็นวงกว้าง และกล่าวเสริมว่า การเก็บภาษีนำเข้าล่าสุดระหว่างสหรัฐและจีนนั้น ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการทำให้การลงทุน ประสิทธิภาพการผลิต และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ชะลอลงตัวลงอีก
นางลาการ์ดอ้างถึงการประมาณการของ IMF โดยระบุว่า การเก็บภาษีสินค้านำเข้าระหว่างสหรัฐและจีนนับตั้งแต่ปี 2561 ประกอบกับการที่สหรัฐขู่เก็บภาษีนำเข้า 25% สำหรับสินค้าจีนมูลค่า 2.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทั่วโลกลดลง 0.5% ในปี 2563
"เป็นผลกระทบที่มีนัยสำคัญ และเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น" นางลาการ์ดกล่าวในการประชุมของ AEI
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นอกเหนือจากความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐและจีนแล้ว นางลาการ์ดยังได้ระบุถึง การที่สหรัฐจะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทั้งหมดของเม็กซิโกในอัตรา 5% ในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ การที่สหรัฐชะลอการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์จากต่างประเทศเป็นเวลา 6 เดือน และการที่สหรัฐยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีของอินเดีย
ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของอินเดียนั้น นางลาการ์ดระบุว่า ขณะที่การยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้าของอินเดียมีผลกระทบน้อยมากต่อการค้าของสหรัฐกับอินเดีย แต่การเคลื่อนไหวของสหรัฐนี้ ก็เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ไม่มีการรับประกันใดๆ
นางลาการ์ดกล่าวว่า ผลกระทบของความตึงเครียดทางการค้าต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ไม่ใช่แค่เพียงการหักลบเปอร์เซนต์ออกจากตัวเลขการคาดการณ์ของ IMF ต่อ GDP โลกในปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.6%
"คุณไม่ได้กำลังพูดถึงการขยายตัว 3.1% เมื่อเราพยายามที่จะวิเคราะห์จากมุมมองทางเศรษฐกิจของผลกระทบจากข้อจำกัดทางการค้า จริงๆ แล้ว เรารวมผลกระทบหลายอย่างเข้าด้วยกัน" นางลาการ์ดกล่าว
นางลาการ์ดกล่าวว่า ปัจจัยที่ IMF จะพิจารณาเมื่อประเมินผลกระทบของความตึงเครียดด้านการค้าต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกนั้น รวมถึง ผลกระทบโดยตรงต่อประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ผลกระทบต่อตลาด รวมถึงผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจะมีผลอย่างชัดเจนต่อการตัดสินใจลงทุน และการตัดสินใจในอนาคตของผู้ดำเนินการด้านเศรษฐกิจ
คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เชื่อว่า การดำเนินมาตรการด้านภาษีต่อคู่ค้าของสหรัฐจะช่วยลดยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐ ซึ่งในกรณีนี้ นางลาการ์ดได้เตือนให้ตระหนักถึงปรากฏการณ์ที่ว่า ความไม่สมดุลของการค้าโลกได้หดตัวลง ขณะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินปี 2551
นางลาการ์ดกล่าวว่า ยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในประเทศตลาดเกิดใหม่ได้เปลี่ยนไปสู่ภาวะที่เกือบสมดุลแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งของจีน โดยระบุว่า ยอดเกินดุลการค้าของจีนได้ลดลงสู่ระดับที่ต่ำมากในขณะนี้
นางลาการ์ดระบุด้วยว่า "แต่ความไม่สมดุลทางการค้าก็ยังไม่หายไป โดยได้เปลี่ยนจากความไม่สมดุลที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ไปเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว"