เขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียนมาซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทางการญี่ปุ่นได้ขยายตัวขึ้น ในฐานะศูนย์กลางการผลิตทางเลือกสำหรับจีนและเวียดนาม สามารถดึงดูดบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทต่างชาติจำนวนมากให้เข้ามาร่วมลงทุนในเขตชานเมืองย่างกุ้ง
นายโทโมยาสุ ชิมิซุ ประธานบริษัท Myanmar Japan Thilawa Development หรือ MJTD ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเขตเศรษฐกิจดังกล่าวระบุว่า มากกว่าครึ่งของพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาแล้วกว่า 5.83 ล้านตารางเมตรในเขตเศรษฐกิจพิเศษธิลาวา (Thilawa Special Economic Zone) ล้วนมีผู้ประกอบการเข้าจับจองเป็นเจ้าของแล้ว
นับตั้งแต่การเปิดดำเนินการในปี 2558 บริษัทกว่า 105 แห่งได้ย้ายเข้ามาในเขตเศรษฐกิจแห่งนี้ หรือได้ลงนามในสัญญาเช่าเมื่อเดือนที่แล้ว โดย 90 บริษัทดำเนินกิจการโดยชาวต่างชาติ และบริษัทอีก 13 แห่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างต่างชาติและเมียนมา
ข้อมูลจาก MJTD ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของญี่ปุ่นและเมียนมา ระบุว่า บริษัทญี่ปุ่น 54 แห่งตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจแห่งนี้ ขณะที่อีก 15 แห่งมาจากประเทศไทย 8 แห่งมาจากเกาหลีใต้ และ 6 แห่งจากไต้หวัน โดยผู้เช่าเป็นบริษัทที่มาจากหลายภาคส่วนธุรกิจ อาทิ เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ อาหาร และเครื่องดื่ม
นายชิมิซุกล่าวว่า การปรับตัวขึ้นของอัตราค่าแรงและข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นนั้น ได้ผลักดันให้บริษัทต่างชาติปลีกตัวออกจากประเทศจีน และหันไปลงทุนในประเทศอื่นๆในเอเชีย แทน อาทิ เวียดนาม และเมียนมา