ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ เปิดเผยในระหว่างการประชุมร่วมกับนายเอมมานูเอล มาครอง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสว่า เขาจะตัดสินใจว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 3.25 แสนล้านดอลลาร์หรือไม่ ภายหลังการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้ที่ประเทศญี่ปุ่น
-- รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวขึ้น 1.3% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งแม้ว่าทำสถิติขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 แต่ก็ยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะพุ่งขึ้น 2.6%
-- นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์กเปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า อัตราเงินเฟ้อที่ระดับต่ำได้กลายเป็นปัญหาเร่งด่วนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งสร้างความท้าทายให้กับธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในการรับมือกับความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวลง
-- นายมาร์เซโล เอบราร์ด รัฐมนตรีต่างประเทศเม็กซิโก เปิดเผยว่า รัฐบาลเม็กซิโกจะส่งทหาร 6,000 นายเข้าไปประจำการในพื้นที่ชายแดนตอนใต้ซึ่งอยู่ติดกับกัวเตมาลา เพื่อสกัดกั้นการหลั่งไหลของผู้อพยพ โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้า หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ขู่ว่าจะเรียเก็บภาษีนำเข้าในวันที่ 10 มิ.ย.นี้ หากเม็กซิโกไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าว
-- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐปี 2562 สู่ระดับ 2.6% อย่างไรก็ตาม IMF ได้เตือนถึงความเสี่ยงที่มีต่อเสถียรภาพทางการเงินในระยะกลาง
-- นายอี้ กัง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวที่กรุงปักกิ่งในวันนี้ว่า จีนมีนโยบายมากพอในการรับมือ หากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐทวีความรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นายอี้เชื่อว่า สงครามการค้าจะมีผลกระทบแค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น
-- กูเกิล ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของอัลฟาเบท อิงค์ เปิดเผยว่า กูเกิลจะซื้อบริษัท ลุคเกอร์ (Looker) ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า ด้วยเงินสดมูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นการซื้อกิจการครั้งใหญ่ครั้งแรกของนายโธมัส คูเรียน ซีอีโอคนใหม่ของกูเกิล คลาวด์
-- สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนเม.ย. แต่ไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนการประเมินของรัฐบาลที่ระบุว่า เศรษฐกิจกำลังแย่ลง
-- สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีรายงานในวันนี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนี ปรับตัวลดลง 1.9% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบเป็นรายเดือน โดยได้รับปัจจัยกดดันจากคำสั่งซื้อที่ซบเซาและความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจที่แผ่วลง