สำนักข่าวเกียวโดรายงานโดยอ้างการเปิดเผยของสำนักข่าวดาวโจนส์ นิวส์ไวร์ ว่า คณะอัยการสูงสุดของรัฐทั้ง 10 รัฐในสหรัฐได้ยื่นฟ้องเพื่อขอให้ยุติข้อตกลงควบรวมกิจการระหว่างบริษัทที-โมบาย ยูเอส อิงค์ และบริษัทสปรินท์ คอร์ป ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันการผูกขาดยังคงทบทวบข้อตกลงควบรวมกิจการระหว่างสองบริษัท ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์
คำฟ้องร้องของคณะอัยการระบุว่า การควบรวมกิจการของผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายขนาดใหญ่เป็นอัน 3 และ 4 ของสหรัฐจะส่งผลให้ราคาค่าบริการโทรศัพท์ปรับตัวขึ้น โดยคณะอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลแขวงประจำเขตนิวยอร์กใต้ นำโดยนางเลทิเทีย เจมส์ อัยการสูงสุดจากนิวยอร์ก และนายซาเวียร์ เบเซอร์รา อัยการสูงสุดประจำรัฐแคลิฟอร์เนีย
นางเจมส์กล่าวว่า "การควบรวมกิจการดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายให้กับผู้ใช้บริการโทรศัพท์ทั่วประเทศด้วยการลดโอกาสของชาวอเมริกันนับล้านคนในการเข้าถึงการใช้งานเครือข่ายไร้สายที่มีราคาถูกและมีคุณภาพ แต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีรายได้ต่ำและชนกลุ่มน้อยอีกด้วย"
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่อัยการของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐซึ่งมีแนวโน้มที่จะอนุมัติการควบรวมกิจการครั้งนี้ ได้เดินหน้าทบทวนข้อตกลงดังกล่าว
ทั้งนี้ สปรินท์ คอร์ป เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายในสหรัฐซึ่งเป็นบริษัทลูกของซอฟท์แบงค์ กรุ๊ป คอร์ป ส่วนที-โมบาย ยูเอส อิงค์ เป็นบริษัทลูกของดอยซ์ เทเลคอม เอจี
เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา วุฒิสมาชิก 9 รายของสหรัฐได้เรียกร้องให้ทางการสหรัฐล้มเลิกแผนควบรวมกิจการระหว่างที-โมบาย ยูเอส อิงค์ และสปรินท์ คอร์ป โดยวุฒิสมาชิกได้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐและคณะกรรมการการสื่อสารของสหรัฐ ซึ่งมีเนื้อหาว่า "เรามีความกังวลอย่างยิ่งว่า การควบรวมกิจการระหว่างสปรินท์กับที-โมบาย จะขัดขวางการแข่งขันซึ่งเป็นสิ่งที่ให้ผลประโยชน์ต่อผู้บริโภค และกีดกันไม่ให้มีผู้ให้บริการรายใหม่ๆ เข้าตลาด"
รายงานระบุว่า ข้อตกลงควบรวมกิจการดังกล่าวมีมูลค่า 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งได้ประกาศไปเมื่อเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยหน่วยงานของสหรัฐ และหากได้รับการอนุมัติแล้ว ข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้สหรัฐมีจำนวนผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายลดลงเหลือ 3 ราย จากปัจจุบัน 4 ราย ซึ่งรวมถึงเอทีแอนด์ที และเวอไรซอน