รายงานดัชนีสันติภาพโลก หรือ Global Peace Index (GPI) ฉบับที่ 13 ประจำปี 2562 ซึ่งชี้วัดความสงบสุขของประเทศและภูมิภาคต่างๆทั่วโลก เผยให้เห็นว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ความสงบสุขทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีในปี 2561 แต่ก็ยังน้อยกว่าทศวรรษก่อนหน้าอยู่มาก โดยความสงบสุขทั่วโลกลดลงเกือบ 4% จากปี 2551 ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้ได้มีการเพิ่มผลวิจัยใหม่เข้ามา ได้แก่ ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อความสงบสุข
ผลการสำรวจที่สำคัญ ๆ ครั้งนี้ ได้แก่ ประเทศที่ลดการขยายอิทธิพลทางทหาร (106 ประเทศ) มีจำนวนมากกว่าประเทศที่เพิ่มการขยายอิทธิพลทางทหาร ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา
นับจากปี 2551 ความสงบสุขทั่วโลกลดลง 3.78% โดยลดลงใน 81 ประเทศ และเพิ่มขึ้นใน 81 ประเทศ แต่ภาพรวมความสงบสุขทั่วโลกลดลงมากกว่าเพิ่มขึ้น
ขณะที่ผลกระทบจากความรุนแรงที่มีต่อเศรษฐกิจโลกลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2555 โดยลดลงสู่ระดับ 14.1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2561 คิดเป็นสัดส่วน 11.2% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดทั่วโลก หรือ 1,853 ดอลลาร์ต่อคน โดยเฉลี่ยแล้ว กลุ่มประเทศที่สงบสุขที่สุดมี GDP ต่อหัวเติบโตสูงกว่าสามเท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดตลอด 60 ปีที่ผ่านมา
ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงมากที่สุด พบว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 35% ของ GDP เทียบกับ 3.3% ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงน้อยที่สุด
รายงานระบุด้วยว่า 86 ประเทศมีคะแนนความสงบสุขดีขึ้น ขณะที่ 76 ประเทศมีคะแนนแย่ลง ไอซ์แลนด์ยังคงเป็นประเทศที่สงบสุขที่สุดในโลก โดยครองอันดับนี้มาตั้งแต่ปี 2551 ตามมาด้วยนิวซีแลนด์ ออสเตรีย โปรตุเกส และเดนมาร์ก ขณะที่ภูฏานมีอันดับดีขึ้นมากที่สุดในบรรดาประเทศที่ติด 20 อันดับแรก โดยกระโดดขึ้นมาถึง 43 อันดับ ในระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา
อัฟกานิสถานรั้งตำแหน่งประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในโลก โดยปรับตัวลงไปแทนที่ซีเรีย ประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ขณะที่ซูดานใต้ เยเมน และอิรัก ก็อยู่ในกลุ่มประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในโลก โดยเยเมนติดหนึ่งใน 5 ประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในโลกเป็นปีแรกนับตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีขึ้นมา
รายงานนี้จัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ หรือ Institute for Economics & Peace (IEP) เพื่อให้ข้อมูลวิเคราะห์ที่ครอบคลุมที่สุดเกี่ยวกับความสงบสุข คุณค่าที่มีต่อเศรษฐกิจ แนวโน้ม และแนวทางการพัฒนาสังคมที่สงบสุข รายงานนี้ครอบคลุม 99.7% ของประชากรโลก โดยมีการพิจารณาปัจจัยบ่งชี้เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ 23 ประการ ซึ่งมาจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือสูง ปัจจัยบ่งชี้ย่อยเหล่านี้ถูกจัดกลุ่มเป็นสามปัจจัยบ่งชี้หลัก ได้แก่ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศ ความปลอดภัยและความมั่นคงในสังคม และการขยายอิทธิพลทางทหาร