Spotlight: ที่ประชุม G7 เสียงแตกประเด็นสงครามการค้าและข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 26, 2019 13:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในขณะที่การประชุมสุดยอด G7 ได้ย่างเข้าสู่วันที่ 2 กลุ่มผู้นำประเทศร่ำรวยได้ประชุมตามหมายกำหนดการณ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเพื่อสรุปฉันทามติ แต่ปรากฎว่า ที่ประชุมยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในประเด็นต่างๆ เช่น การค้า และข้อตกลงนิวเคลียร์ ที่ยากจะหลอมรวมความเห็นให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้

สำหรับประเด็นการค้านั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ และนโยบาย "America First" ได้รับแรงกดดันจากประเทศกลุ่ม G7 มากยิ่งขึ้น ขณะที่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งถูกมองว่า เป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับทรัมป์มากที่สุดในบรรดาผู้นำ G7 กล่าวว่า อังกฤษให้การสนับสนุนสันติภาพแห่งการค้ามากกว่าสงครามการค้า

นายจอห์นสัน ได้แสดงความเห็นดังกล่าวในระหว่างรับประทานอาหารเช้ากับทรัมป์ ผู้ซึ่งถูกวิจารณ์เรื่องกระพือความขัดแย้งทางการค้ากับจีน

นายจอห์นสันกล่าวกับทรัมป์ต่อหน้าสื่อมวลชนว่า เราสนับสนุนสันติภาพแห่งการค้า และพร้อมที่จะทำเช่นนั้น

นายกฯอังกฤษ กล่าวด้วยว่า อังกฤษได้กำไรอย่างมากจากการค้าเสรีเมื่อ 200 ปีมาแล้ว และนี่คือสิ่งที่เราต้องการจะเห็น เราไม่ต้องการให้มีการจัดเก็บภาษีโดยรวม

นับเป็นการแสดงความเห็นเป็นครั้งที่ 2 ของนายจอห์นสันที่กังวลเรื่องนโยบายการของทรัมป์ในช่วง 1 สัปดาห์ โดยนายจอห์นสันได้กล่าวระหว่างเดินทางไปร่วมการประชุม G7 ว่า ตนเองเป็นห่วงเรื่องความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนมาก

นายจอห์นสัน กล่าวว่า นี่ไม่ใช่หนทางที่ควรจะเดิน นอกเหนือไปจากสิ่งอื่นใด ใครก็ตามที่สนับสนุนการจัดเก็บภาษี ผู้นั้นก็เสี่ยงที่จะถูกกล่าวโทษว่าเป็นต้นตอของช่วงขาลงของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่า จะเป็นจริงหรือไม่ ผมอยากที่จะเห็นการการค้าโลกที่เปิดกว้าง ผมอยากที่จะเห็นความตึงเครียดที่บรรเทาเบาบางลง และผมอยากให้ยกเลิกการเก็บภาษี

ประเด็นนิวเคลียร์อิหร่าน

ภายหลังการประชุมระดับทวิภาคีและไตรภาคีเกี่ยวกับประเด็นนิวเคลียร์ที่ผ่านพ้นไปหลายครั้งในระหว่างวันนั้น ผู้นำประเทศต่างๆไม่สามารถตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการดำเนินการร่วมกันได้

ด้านนายประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส และทรัมป์ กล่าวเมื่อวานนี้ว่า ประเทศสมาชิก G7 จะดำเนินการในประเด็นที่ซับซ้อนนี้ในแต่ละประเทศเอง

นายมาครง กล่าวว่า ยังไม่มีข้อบังคับอย่างเป็นทางการในที่ประชุม G7 เราจะยังคงเดินหน้าต่อไป ยังไม่มีคำสั่งที่เป็นทางการในที่ประชุม G7 เราไม่ได้ออกคำสั่งที่เป็นทางการแก่ประเทศใดประเทศหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ นายมาครงกล่าวกับ LCI สถานีโทรทัศน์ฝรั่งเศสว่า เราเห็นพ้องในสิ่งที่เราต้องการจะพูดเกี่ยวกับประเด็นอิหร่าน ทุกคนต้องการให้หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ชัดเจนเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้

ขณะที่สื่อฝรั่งเศสได้รายงานว่า นายมาครองได้รับฉันทามติให้เผยแพร่สาส์นไปยังอิหร่านในนามของประเทศทั้ง 7 ภายหลังการรับประทานอาหารค่ำเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ทรัมป์ กล่าวว่า ไม่ ผมไม่ได้หารือในเรื่องนี้ เมื่อถูกถามในช่วงเช้าวันอาทิตย์เกี่ยวกับการดำเนินการร่วมกันในประเด็นอิหร่านในการแถลงข่าวร่วมกับนายชินโซ อาเบะ นายกฯญี่ปุ่น

เมื่อถูกถามว่า ให้การสนับสนุนการดำเนินการของนายมาครงเกี่ยวกับอิหร่านหรือไม่ ทรัมป์ กล่าวว่า แน่นอน แต่ผมก็สนับสนุนการดำเนินการของนายอาเบะด้วยเช่นกัน เราจะช่วยกันขยายขอบเขตการดำเนินการของเรา คุณไม่สามารถหยุดยั้งไม่ให้ผู้คนพูดถึงกันได้ หากพวกเขาอยากจะพูด พวกเขาก็สามารถพูดกันได้

นอกจากนี้ ยังมีอีกสถานการณ์เกิดขึ้น เมื่อนายจาหวัด ซารีฟ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอิหร่านที่ได้เดินทางถึงยังเมืองบิแอร์รีท์ช่วงบ่ายวานนี้ แต่ต่อมาทางการอิหร่านได้ปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ในการจัดการประชุมหรือการเจรจาต่อรองตามหมายกำหนดการณ์กับผู้แทนของสหรัฐในช่วงที่นายซารีฟอยู่ที่ฝรั่งเศส

นายอับบาส มูซาวี โฆษกกระทรวงต่างประเทศอิหร่าน กล่าวว่า การเดินทางเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นตามคำเชิญของนายฌอง อีฟ เลอ เดรียน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศ เพื่อที่จะหาทางเจรจาในประเด็นต่างๆที่ประธานาธิบดีอิหร่านและฝรั่งเศสได้ริเริ่มไว้

ประเด็นนิวเคลียร์อิหร่านจึงยังเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการประชุมสุดยอดประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 โดยอังกฤษ เยอรมนี และเจ้าภาพอย่างฝรั่งเศส ได้ร่วมมือกันเพื่อที่จะทำให้ข้อตกลงนิวเคลียร์ หรือ Joint Comprehensive Plan of Action (JCPOA) ให้คงอยู่ต่อไป หลังจากที่สหรัฐได้ถอนตัว และจุดชนวนความตึงเครียดเหนือภูมิภาคอ่าว

โดย เตียน ตงตง, หลิว ฟาง และเหริน กี สำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ