ยูบีเอส สถาบันการเงินชั้นนำของสวิตเซอร์แลนด์เปิดเผยผลสำรวจนักลงทุนที่มั่งคั่งจำนวนมากกว่า 3,400 รายทั่วโลกซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พบว่า นักลงทุนทั่วโลกมองแนวโน้มการลงทุนในปี 2563 ด้วยความระมัดระวังอย่างมาก ท่ามกลางความวิตกอย่างมากเกี่ยวกับด้านภูมิรัฐศาสตร์
อย่างไรก็ตาม พวกเขายังคงมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และภาวะตลาดในช่วง 10 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ผลการสำรวจดังกล่าวจัดทำโดยยูบีเอส โกลบอล เวลธ์ แมเนจเมนต์ ระหว่างเดือนส.ค.-ต.ค.
นักลงทุนมองภาวะตลาดปี 2563 อย่างระมัดระวัง ท่ามกลางความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์
ผลสำรวจบ่งชี้ว่า เกือบ 8 ใน 10 หรือ 79% ของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่า ตลาดต่างๆจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะที่ผันผวนมากขึ้น และ 66% เชื่อว่าตลาดถูกผลักดันโดยเหตุการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ในขณะนี้มากกว่าโดยปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจ อาทิ ความสามารถในการทำกำไร, รายได้ และแนวโน้มการขยายตัว
ผลสำรวจระบุว่า "ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นปัจจัยหลักที่นักลงทุนใช้ในการพิจารณาภาวะตลาดนั้น ขณะนี้ได้กลับกลายเป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นปัจจัยหลักสำหรับนักลงทุน
ผลสำรวจยังพบว่า ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ใหญ่ที่สุด 3 ประการที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้แก่ ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน, การเมืองภายในประเทศ และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2563
นักลงทุน 44% ทั่วโลกยังคงวิตกว่า ความขัดแย้งด้านการค้าจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุนในปีหน้า ซึ่งถือเป็นความวิตกมากที่สุดในบรรดาปัจจัยเสี่ยงสูงสุด 3 ประการดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนในจีนดูเหมือนมีความวิตกน้อยที่สุดเกี่ยวกับความขัดแย้งด้านการค้า โดยมีนักลงทุนเพียง 30% ในจีนที่วิตกเกี่ยวกับการค้า ในทางตรงกันข้าม ผู้ตอบแบบสำรวจในสหรัฐราว 45% แสดงความกังวลเกี่ยวกับการค้า
นางพอลา โพลิโต เจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์ลูกค้าของยูบีเอส โกลบอล เวลธ์ แมเนจเมนต์ระบุในแถลงการณ์เมื่อวานนี้ว่า "นักลงทุนมองว่าการเชื่อมโยงกันทั่วโลกและผลกระทบที่ต่อเนื่องของการเปลี่ยนแปลงนั้น จะส่งผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนของพวกเขามากกว่าปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจดั้งเดิม ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากอดีต"
เมื่อพิจารณาตามภูมิภาคนั้น นักลงทุนในลาติน อเมริกา มีความระมัดในระยะใกล้มากกว่าภูมิภาคหลักอื่นๆ โดยผู้ตอบผลสำรวจ 80% มองว่า ตลาดกำลังจะเผชิญกับความผันผวนเพิ่มขึ้น และ 64% วิตกเกี่ยวกับความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน
นักลงทุนในเอเชียมีความวิตกเกี่ยวกับภาวะตลาดในระยะสั้นน้อยกว่านักลงทุนที่ได้รับการสำรวจในภูมิภาคอื่นๆ โดย 76% เชื่อว่าตลาดจะเผชิญความผันผวนมากขึ้น และ 40% กังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งด้านการค้า
ขณะที่ความท้าทายเพิ่มขึ้นนั้น บรรดานักลงทุนกำลังมองหากลยุทธ์ในการปกป้องการลงทุน โดย 64% กำลังพิจาณาซื้อหุ้นคุณภาพสูงซึ่งได้รับความสนใจมากที่สุด ขณะที่ 62% จะเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ และ 60% วางแผนที่จะเพิ่มการถือครองเงินสดในพอร์ตการลงทุน
ความเชื่อมั่นสำหรับทศวรรษหน้า,การลงทุนระยะยาว
แม้มีความวิตกในระยะสั้นเพิ่มขึ้น แต่ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ก็แสดงความเชื่อมั่นสำหรับภาวะตลาดในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดย 69% ของผู้ตอบแบบสำรวจมีมุมมองเชิงบวกกับผลตอบแทนการลงทุนในปี 2563-2572 และ 88% มีแนวโน้มที่จะปรับพอร์ตการลงทุนตามแรงผลักดันการพัฒนาเศรษฐศาสตร์มหภาคในระดับโลก (mega-trends)
ผู้ตอบแบบสำรวจ 87% ระบุว่า ประชากรวัยสูงอายุเป็นแนวโน้มระดับโลกที่มีการระบุถึงมากที่สุด ขณะที่แนวโน้มอื่นๆ ได้แก่ เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ อาทิ ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงแนวโน้มที่ทรัพยากรธรรมชาติลดน้อยลง
ผู้ตอบแบบสำรวจ 82% แสดงความสนใจอย่างมากในการลงทุนอย่างยั่งยืน ซึ่งจะถูกขับเคลื่อนโดยประเด็นต่างๆ ที่นักลงทุนเชื่อว่ามีความสำคัญมากที่สุดสำหรับโลกในช่วง 10 ปีข้างหน้า
ประเด็นดังกล่าวได้แก่ น้ำสะอาดและสุขาภิบาล, การเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่ดี ตลอดจนด้านมลพิษ และการทำลายสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ นักลงทุนในกลุ่มประชากรอายุ 18-34 ปี มีจำนวนมากกว่ากลุ่มอายุอื่นที่แสดงความเชื่อมั่นในการลงทุนในระยะยาว และการลงทุนที่ยั่งยืน
ในบรรดาคนรุ่นใหม่นั้น 84% มีความสนใจอย่างมากในการจัดพอร์ตการลงทุนของพวกเขาให้สอดคล้องกับแนวโน้มที่แข็งแกร่งในวันข้างหน้า ขณะที่ 83% พิจารณาการลงทุนที่ยั่งยืน เมื่อเทียบกับ 30% ของผู้ที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไปในทั้งสองกรณี