คณะกรรมการกำกับดูแลเสถียรภาพการเงิน (FSB) เตรียมบังคับให้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ที่มีการพัฒนาแพลตฟอร์มการเงินของตัวเอง หรือ "Big Tech" เช่น กูเกิล, อาลีบาบา และบริษัทอื่นๆ ให้แบ่งปันข้อมูลลูกค้าที่รับบริการด้านการเงินให้กับธนาคาร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแข่งขันไม่เป็นธรรมระหว่างสองภาคอุตสาหกรรม
FSB เป็นองค์กรระหว่างประเทศซึ่งทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลกระทบที่มีต่อระบบการเงินของโลก โดย FSB ได้ก่อตั้งขึ้นภายหลังการประชุมสุดยอด G20 ในเดือนเม.ย. 2552 โดยปัจจุบันนายแรนดัล ควอร์เลส หนึ่งในคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำหน้าที่ประธาน FSB
ทั้งนี้ ในรายงาน FSB ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันอาทิตย์ ได้มีการระบุถึงความสำคัญของการเฝ้าระวังการให้บริการทางการเงินของบรรดา Big Tech อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจกระทบต่อความสามารถในระดมเงินทุนของภาคธนาคาร
แม้การให้บริการการเงินของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ในบางประเทศจะอยู่แค่ในระยะเริ่มต้น แต่ในจีนเริ่มมีการพบเห็นการเข้ารุกชุมชนที่ด้อยโอกาสของบริษัทเหล่านั้นเพิ่มมากขึ้น นายแรนดัล ควอร์เลส หนึ่งในคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งดำรงตำแหน่งประธาน FSB กล่าวในรายงาน
บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ในตลาดอย่างไมโครซอฟท์ อเมซอน อีเบย์ ไป่ตู้ แอปเปิล เฟซบุ๊ก และ เทนเซนต์ ซึ่งล้วนมีฐานข้อมูลที่มีขนาดมหาศาลอยู่ในมือ ต่างกำลังสนใจกับการนำเสนอบริการด้านการเงินทั้งบริการบริหารจัดการสินทรัพย์ การรับชำระเงิน และการปล่อยสินเชื่อ
นอกจากนี้ FSB ระบุว่า ในขณะที่ธนาคารต่างๆ ทั้งในยุโรปและพื้นที่อื่นๆ ได้ถูกกำหนดให้ต้องแบ่งปันข้อมูลลูกค้ากับบริษัทฟินเทคบุคคลที่สามที่เข้ามาเป็นคู่แข่งด้านบริการรับชำระเงิน ข้อบังคับดังกล่าวนี้ควรต้องถูกนำมาพิจารณาเพื่อบังคับใช้กับบริษัทเทคโนโลยีเหล่านั้นด้วยเช่นกัน