"เวิลด์แบงก์" เตือนความเสี่ยงวิกฤตหนี้โลกครั้งใหม่หลังการกู้ยืมพุ่งสูงสุดในรอบ 50 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday January 11, 2020 15:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารโลกเปิดเผยในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (GEP) ที่จัดทำขึ้นสองปีครั้งว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตหนี้ทั่วโลกครั้งใหม่ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารกลางต่างๆ ตระหนักว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์นั้น อาจไม่เพียงพอที่จะรับมือกับภาวะล่มสลายทางการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นในวงกว้างอีกครั้ง

ธนาคารโลกระบุในรายงานว่า มีการก่อหนี้ทั่วโลกแบ่งเป็น 4 คลื่นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยคลื่นปัจจุบันซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2553 นั้น เป็นระลอกที่มีการกู้ยืมทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากที่สุด, เร็วที่สุด และเป็นวงกว้างมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2513

ธนาคารโลกระบุว่า ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำจะช่วยลดความเสี่ยงบางประการที่เกี่ยวกับภาระหนี้สินในระดับสูง แต่คลื่นการก่อหนี้ 3 ระลอกก่อนหน้านี้ได้สิ้นสุดลงโดยเกิดวิฤตการเงินขึ้นทั้งในประเทศกำลังพัฒนา และประเทศตลาดเกิดใหม่

ธนาคารโลกระบุว่า ในปี 2561 นั้น หนี้สินทั่วโลกเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณ 230% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขณะที่หนี้สินทั้งหมดจากประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับเกือบ 170% ของ GDP โดยเพิ่มขึ้น 54% นับตั้งแต่ปี 2553

ทั้งนี้ จีนมีสัดส่วนในการก่อหนี้มากที่สุด เนื่องจากมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่ธนาคารโลกก็ได้ระบุย้ำว่า การก่อหนี้ได้เกิดขึ้นเป็นวงกว้างนับตั้งแต่ปี 2553


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ