130 ประเทศเห็นพ้องข้อตกลงเก็บภาษีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการด้านดิจิทัล

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 31, 2020 12:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประเทศและภูมิภาคต่างๆ มากกว่า 130 แห่งได้ตกลงกันในหลักการเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ใหม่เรื่องการเก็บภาษีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ให้บริการด้านดิจิทัล อาทิ กูเกิล และ แอปเปิล รวมถึงบริษัทอื่นๆ ที่ดำเนินงานตามประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จะเปิดเผยรายละเอียดของข้อตกลงดังกล่าวในวันนี้

กฎเกณฑ์ใหม่ที่นำเสนอโดย OECD เกิดขึ้น ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าบางบริษัทไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างเป็นธรรมในการจ่ายภาษีให้กับรัฐบาลของแต่ละประเทศ ในปัจจุบันบริษัทต่างชาติจะถูกเก็บภาษีจากกำไรในการดำเนินธุรกิจ หากมีสำนักงานหรือโรงงานตั้งอยู่ในประเทศนั้นๆ

ดังนั้น บริษัทข้ามชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทด้านไอทีจึงได้ขยายธุรกิจโดยที่ไม่ต้องจ่ายภาษีในประเทศที่บริษัทไม่ได้จัดตั้งสำนักงาน

ภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่นั้น บรรดาบริษัทข้ามชาติที่ทำรายได้โดยจำหน่ายสินค้าสำหรับผู้บริโภคหรือให้บริการด้านดิจิทัล จะถูกเก็บภาษีโดยอิงกับยอดขายที่ได้รับ แม้แต่ในประเทศที่บริษัทไม่ได้มีสำนักงานตั้งอยู่ก้ตาม

กฎเกณฑ์ดังกล่าวครอบคลุมธุรกิจต่างๆ แต่ส่วนใหญ่มองว่า มาตรการนี้พุ่งเป้าไปที่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐ อาทิ กูเกิล, แอปเปิล, เฟซบุ๊ก และอเมซอนดอทคอม ซึ่งเรียกรวมกันว่า กลุ่ม GAFA

ข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้น หลังสมาชิก OECD และประเทศอื่นๆ ได้ประชุมร่วมกันเป็นเวลา 2 วันที่กรุงปารีสเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยได้หารือกันบนพื้นฐานของร่างข้อตกลงที่ OECD เสนอไว้เมื่อเดือนต.ค. 2562

ร่างข้อตกลงดังกล่าวระบุถึงการจัดสรรสัดส่วนผลกำไรที่แน่นอนของบริษัทข้ามชาติให้กับแต่ละประเทศโดยอิงกับยอดขายในแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ตาม ร่างข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงขนาดของบริษัทที่จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ แต่สำนักข่าวเกียวโดระบุว่า มีการเสนอแนวคิดดังกล่าวเพื่อให้ครอบคลุมถึงบริษัทต่างๆ ที่มีผลกำไรเกิน 10% ของรายได้ และเพื่อเก็บภาษีกำไรที่สูงกว่าระดับดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ