รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศกลุ่ม G20 ได้จัดการประชุมขึ้นเป็นเวลา 2 วันที่กรุงริยาดห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย และเสร็จสิ้นลงแล้วเมื่อวานนี้ โดยในที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องกฎระเบียบในการจัดเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ และได้ประกาศรับรองข้อเสนอขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ตกลงกันในหลักการเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็น "พื้นฐาน" ในการเจรจาที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ข้อเสนอดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนกฎระเบียบภาษีเดิม ที่เก็บภาษีโดยอาศัยเพียงสถานที่ตั้งของบริษัท เช่น สำนักงานและโรงงาน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีเปิดเผยว่า บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลกมักใช้ช่องโหว่ดังกล่าวในการทำกำไรจากประเทศที่เก็บภาษีต่ำ ไม่ว่าแท้จริงแล้วลูกค้าอยู่ประเทศใดก็ตาม
ภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่นี้ บรรดาบริษัทข้ามชาติที่ทำรายได้โดยจำหน่ายสินค้าสำหรับผู้บริโภคหรือให้บริการด้านดิจิทัล จะถูกเก็บภาษีโดยอิงกับยอดขายที่ได้รับ แม้แต่ในประเทศที่บริษัทไม่ได้มีสำนักงานตั้งอยู่ก็ตาม
กฎเกณฑ์ดังกล่าวครอบคลุมธุรกิจต่างๆ แต่ส่วนใหญ่มองว่า มาตรการนี้พุ่งเป้าไปที่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของสหรัฐ อาทิ กูเกิล แอปเปิล เฟซบุ๊ก และอเมซอนดอทคอม ซึ่งเรียกรวมกันว่า กลุ่ม GAFA
กฎระเบียบการเก็บภาษีระหว่างประเทศแบบใหม่นี้มีเป้าหมายที่จะตกลงกันให้ได้ภายในปลายปีนี้ แต่กระบวนการดังกล่าวอาจเผชิญกับความซับซ้อนเมื่อต้องลงรายละเอียด
นอกจากนี้ สมาชิกกลุ่ม G20 ยังได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล โดยได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการจัดการปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น "อย่างเหมาะสม" เช่น ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดการฟอกเงิน ก่อนที่จะมีการนำสกุลเงินดิจิทัลไปใช้ในวงกว้าง
ทั้งนี้ บรรดาธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกหันมาพิจารณาแผนออกสกุลเงินดิจิทัลของตนเองหรือไม่ก็ศึกษาประเด็นดังกล่าวกันมากขึ้น หลังเมื่อปีที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียที่เข้าถึงผู้คนถึงหนึ่งในสามของโลกอย่างเฟซบุ๊กได้ประกาศแผนเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลชื่อ Libra ขณะที่ทางการจีนเองก็เดินหน้าแผนออกเงินหยวนดิจิทัลด้วย