องค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกอาจหดตัวลงเกือบ 1% ในปีนี้ เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยพลิกผันอย่างรุนแรงจากที่ UN เคยคาดการณ์ก่อนไวรัสแพร่ระบาดว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 2.5%
แผนกกิจการด้านเศรษฐกิจและสังคมของ UN ระบุเตือนในรายงานว่า การหดตัวทางเศรษฐกิจอาจรุนแรงมากขึ้น หากการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไปจนถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ และหากความพยายามในการกระตุ้นด้านการคลังไม่ได้ช่วยสนับสนุนรายได้ และการใช้จ่ายของผู้บริโภค
UN ระบุว่า เศรษฐกิจโลกเคยหดตัวลงถึง 1.7% ในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2552
รายงานระบุว่า "ความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสแบบทวีคูณ และความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมต่างๆ ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก โดยความผันผวนของตลาดได้ผ่านจุดสูงสุดในช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินโลกแล้ว ขณะที่ตลาดหุ้น และราคาน้ำมันทรุดตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายปี"
รายงานระบุว่า ในสถานการณ์ที่ดีที่สุดนั้น การบริโภคของภาคเอกชน, การลงทุน และการส่งออกที่ลดลงในระดับปานกลาง จะได้รับการชดเชยด้วยการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลในประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 7 ชาติและจีน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัว 1.2% ในปีนี้
ส่วนในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนั้น ผลผลิตทั่วโลกจะหดตัวลง 0.9% โดยขึ้นอยู่กับผลกระทบด้านอุปสงค์ในระดับที่แตกต่างกันของจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สหรัฐ และสหภาพยุโรป (EU) รวมถึงการร่วงลง 50% ของราคาน้ำมัน โดยในสถานการณ์นี้นั้นอยู่บนสมมติฐานที่ว่า การจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจใน EU และในสหรัฐจะดำเนินต่อไปจนถึงกลางไตรมาส 2
รายงานระบุด้วยว่า การจำกัดความเคลื่อนไหวของประชาชนและการล็อกดาวน์ในยุโรปและสหรัฐ กำลังส่งผลกระทบต่อภาคบริการอย่างหนัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพ อาทิ การค้าปลีก, สันทนาการ, ความบันเทิง และการขนส่ง
ภาคธุรกิจดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 25% ของตำแหน่งงานทั้งหมดในประเทศเหล่านั้น และเมื่อธุรกิจเหล่านี้สูญเสียรายได้ การว่างงานก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก