องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ได้ออกคำแนะนำแก่เหล่าผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพและนักวิจัย เกี่ยวกับการใช้และศึกษาพลาสมาในเชิงค้นคว้าวิจัยที่เก็บมาจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการดีขึ้นจนหายดีแล้วในช่วงเวลาฉุกเฉินของวงการสาธารณสุข
FDA ระบุว่า พลาสมาที่ประกอบด้วยแอนติบอดียับยั้งไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นั้น มีแนวโน้มที่จะจัดการกับการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม พลาสมาที่เก็บจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายดีแล้วยังไม่ได้รับการรับรองจาก FDA ให้นำไปใช้งานต่อ โดยขณะนี้ถูกกำกับดูแลในฐานะผลิตภัณฑ์ในเชิงค้นคว้าวิจัย
-- อ็อกซ์แฟม (Oxfam) ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลของอังกฤษ ออกรายงานเตือนว่า ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น อาจจะทำให้ประชาชนกว่า 500 ล้านคนกลายเป็นคนยากจน นอกเสียจากว่ารัฐบาลในประเทศต่างๆ จะออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว
รายงานของอ็อกซ์แฟมซึ่งจัดทำร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย King’s College London และ Australian National University ระบุว่า ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนั้น ผลกระทบของโควิด-19 จะทำให้รายได้หดตัวลง 20% ซึ่งจะทำให้จำนวนประชาชนที่ยากจนเพิ่มขึ้นราว 434 - 611 ล้านคน
อ็อกซ์แฟมระบุว่า ผลกระทบจากการชัตดาวน์เศรษฐกิจในหลายประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น จะทำให้ความพยายามในการต่อสู้กับความยากจนทั่วโลกต้องถดถอยลงด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบแอฟริกา และตะวันออกกลาง
-- กระทรวงสาธารณสุขและการดูแลสังคมของอังกฤษ รายงานว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในอังกฤษขณะนี้อยู่ที่ 7,097 ราย เมื่อนับถึงช่วงบ่ายวันอังคารที่ 7 เม.ย. โดยเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 938 ราย ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค
รายงานระบุว่า นับถึงเช้าวันพุธที่ 8 เม.ย. จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในอังกฤษอยู่ที่ 60,733 ราย เพิ่มขึ้น 5,492 ราย ใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา
-- สถาบันโรเบิร์ต คอช (RKI) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลเยอรมนีที่ทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคเปิดเผยข้อมูลล่าสุดระบุว่า ในช่วงเวลา 24 ชม.ที่ผ่านมานี้ ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเยอรมนีเพิ่มขึ้นอีก 4,974 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งขึ้นเป็น 108,202 ราย
ส่วนยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ในเยอรมนี เพิ่มขึ้น 246 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 2,107 ราย
-- กระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลียเปิดเผยว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในออสเตรเลียนั้น สูงกว่า 6,000 รายแล้ว และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 51 ราย แม้ในออสเตรเลียจะมียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยลงอย่างมากก็ตาม
กระทรวงสาธารณสุขของออสเตรเลียระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในออสเตรเลีย อยู่ที่ 6,052 ราย เพิ่มขึ้นประมาณ 1.6% จากยอดผู้ติดเชื้อที่ 5,956 รายในช่วงเช้าวานนี้
-- คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) แถลงในวันนี้ว่า จีนมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ เพิ่มขึ้น 63 ราย โดยในจำนวนผู้ติดเชื้อดังกล่าวมี 61 รายซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ ขณะที่ผู้ติดเชื้อในประเทศจำนวน 2 ราย มาจากมณฑลกวางตุ้ง
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ขณะนี้ จีนมีผู้ติดเชื้อจากโควิด-19 อยู่ที่ 81,865 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อ 1,160 ราย อยู่ระหว่างการรักษา และมีผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว 77,370 ราย และยอดรวมผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 3,335 ราย
-- ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งเกาหลี (KCDC) เปิดเผยในวันนี้ว่า ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา เกาหลีใต้พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มอีก 39 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อในประเทศขณะนี้อยู่ที่ 10,423 ราย โดยนับเป็นการเพิ่มขึ้นน้อยสุดนับตั้งแต่ปลายเดือนก.พ.
ทั้งนี้ ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 รายต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 แล้ว และนับเป็นครั้งแรกนับแต่วันที่ 20 ก.พ. ที่มีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นน้อยกว่า 40 ราย
ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 4 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 204 ราย และจำนวนผู้ที่รักษาหายแล้วอยู่ที่ 6,973 ราย
-- แถลงการณ์จากศูนย์รับมือโควิด-19 ของรัสเซีย ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเพิ่มขึ้น 1,459 รายในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดรวมทั้งประเทศขณะนี้อยู่ที่ 10,131 ราย
ด้านสถานเอกอัครราชทูตจีน ณ กรุงมอสโกออกแถลงการณ์ในวันพุธตามเวลาท้องถิ่นว่า จีนได้สั่งปิดพรมแดนที่ติดกับรัสเซียเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น หลังจากที่จีนพบผู้ป่วยโควิด-19 ที่มาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้จะผ่านจุดวิกฤตของการแพร่ระบาดในประเทศไปแล้วก็ตาม
-- นายอัลแบร์โต เฟอร์นันเดซ ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา ประกาศยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 ในหลายเมืองใหญ่ และขยายระยะเวลาการกักตัวอยู่ในบ้าน ซึ่งเดิมมีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 12 เม.ย. นี้
นายเฟอร์นันเดซ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นว่า "รัฐบาลจะยังไม่มีการยกเลิกหรือผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ มีแต่จะเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม" พร้อมปฎิเสธที่จะระบุวันสิ้นสุดการใช้มาตรการดังกล่าว
"มาตรการกักกันตัวจะต้องดำเนินการต่อไป ที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จในการลดอัตราการติดเชื้อ" นายเฟอร์นันเดซกล่าว
-- ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ยกระดับความตึงเครียดกับองค์การอนามัยโลก (WHO) หลังออกมาวิจารณ์ WHO ในเรื่องการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) พร้อมขู่ตัดเงินสนับสนุนอีกครั้ง
ปธน.ทรัมป์กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวว่า "เราจะทำการศึกษา ตรวจสอบ WHO และตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร และตอนนี้เราจะระงับไว้ก่อน" อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า คำว่า "ระงับไว้ก่อน" ของทรัมป์นั้น คือระงับเงินสนับสนุน WHO หรือระงับการตรวจสอบ WHO
-- สำนักงานศุลกากรและการป้องกันชายแดนสหรัฐ (CBP) และสำนักงานจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FEMA) ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่า ทาง CBP จะเริ่มทำการยึดสินค้าส่งออกที่เป็นอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ขณะที่สหรัฐกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนอุปกรณ์ดังกล่าวท่ามกลางความต้องการที่พุ่งขึ้น อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ สินค้าประเภทอุปกรณ์ PPE ที่จะถูกยึดภายใต้นโยบายนี้ได้แก่ หน้ากากอนามัย N95, เครื่องช่วยหายใจแบบฟอกอากาศ, หน้ากากอนามัยสำหรับการผ่าตัด, ถุงมือผ่าตัด และเครื่องช่วยหายใจประเภทอื่นๆ ขณะที่ทาง FEMA จะเป็นหน่วยงานที่ตัดสินใจว่าควรจะนำอุปกรณ์ PPE ที่ยึดได้กลับไปใช้ในสหรัฐหรือไม่ โดยรัฐบาลสหรัฐจะตัดสินใจซื้อหรือส่งออกอุปกรณ์ดังกล่าว
-- กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ได้ออกมาประณามข้อกล่าวหา "ที่ไร้เหตุผล" ของนายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) หลังจากที่นายกีบรีเยซุสกล่าวว่าเขาถูกเหยียดชาติพันธุ์ โดยการเหยียดชาติพันธุ์ดังกล่าวมีต้นตอมาจากไต้หวัน
ทั้งนี้ ไต้หวันเปิดเผยว่า ไต้หวันขอประณามข้อกล่าวหาที่ไร้เหตุผลของนายกีบรีเยซุส ไต้หวันมีประชาธิบไตยเต็มใบ และไม่ยุแหย่ให้ประชาชนโจมตีผอ.WHO และไม่เคยใช้ถ้อยคำที่มีลักษณะเหยียดชาติพันธุ์อย่างแน่นอน ซึ่งคำกล่าวของนายกีบรีเยซุสถือว่าไร้ความรับผิดชอบ และเขาควรจะต้องขอโทษไต้หวัน
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไต้หวันรู้สึกไม่พอใจอย่างยิ่ง หลัง WHO ออกมาระบุว่า "ไต้หวันไม่ยอมทำตามคำแนะนำของ WHO เพราะได้รับแรงกดดันจากจีน" อีกทั้งยังระบุอีกด้วยว่า ไต้หวันไม่ได้รับข้อมูลในช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งทำให้ชาวไต้หวันตกเป็นตัวประกันจากเกมการเมือง
-- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับลดการประเมินภาวะเศรษฐกิจทั้ง 9 ภูมิภาคภายในประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 11 ปี เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจในภาคส่วนต่างๆเป็นวงกว้าง
รายงานซากุระรีพอร์ท หรือรายงานภาวะเศรษฐกิจทั้ง 9 ภูมิภาคของ BOJ ซึ่งมีการเผยแพร่ในวันนี้ระบุว่า เศรษฐกิจทุกภูมิภาคได้ชะลอตัวลง หรือ เผชิญกับแรงกดดันช่วงขาลง อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดย BOJ ได้ปรับลดการประเมินภาวะเศรษฐกิจทั้ง 9 ภูมิภาคของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2552 หลังจากที่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2551
-- นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวในการประชุมทางไกลร่วมกับบรรดาผู้จัดการในระดับภูมิภาคของ BOJ ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น และแนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลกในขณะนี้ตกอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอนอย่างมาก
"BOJ จะใช้มาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมโดยไม่ลังเล หากเราพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็น ขณะเดียวกัน BOJ จะจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิด" นายคุโรดะกล่าว
-- ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ในยุโรปและเอเชียกลางในปีนี้ เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ดี เวิลด์แบงก์คาดว่า เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะกลับมาขยายตัวอย่างแข็งแกร่งอีกครั้งในปี 2564
ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่ในยุโรปและเอเชียกลาง จะหดตัวลงราว 2.8% ในปีนี้ และหากสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงจนส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจ ก็คาดว่า GDP ของประเทศเหล่านี้จะหดตัวลงรุนแรงถึง 4.4% โดยตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดนี้ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ในช่วง 3 เดือนก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้จะขยายตัวราว 5.4% - 7%
รายงานคาดการณ์ของเวิลด์แบงก์ครอบคลุมถึงประเทศต่างๆ เป็นวงกว้าง ซึ่งรวมถึง บัลกาเรีย ฮังการี ลิธัวเนีย โปแลนด์ เซอร์เบีย เบลารุส ยูเครน จอร์เจีย และคาซัคสถาน
-- นายเจอโรม คิม ผู้อำนวยการของสถาบันวัคซีนระหว่างประเทศ (IVI) เปิดเผยกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า IVI ยังคงมีความวิตกเรื่องความปลอดภัย ขณะที่ประเทศต่างๆ ได้เร่งความพยายามที่จะพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
นายคิมกล่าวว่า "เราไม่รู้ว่าวัคซีนที่พัฒนาขึ้นในระยะเวลา 4-18 เดือนซึ่งเป็นตัวเลขประมาณการในปัจจุบันนั้น จะมีความปลอดภัยอย่างแท้จริงหรือไม่"
นายคิมกล่าวว่า โดยปกติแล้ว กระบวนการพัฒนาวัคซีนต้องใช้เวลา 5-10 ปี แต่ในขณะนี้ ได้มีการเร่งแข่งขันกันพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากทั่วโลกพยายามที่จะยับยั้งการแพร่ระบาด และได้มีการอัดฉีดเงินทุนอย่างมากให้กับบริษัทต่างๆ เพื่อพัฒนาวัคซีนให้พร้อมสำหรับการทดสอบ
เขาระบุว่า ผลจากการเร่งกระบวนการพัฒนาวัคซีนดังกล่าวนั้น ทำให้ขณะนี้ บางประเทศสามารถเริ่มการทดลองใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในคนได้ภายใน 4 เดือน แทนที่จะเป็น 5-10 ปี และนั่นนับเป็นสิ่งที่น่าทึ่งอย่างมาก