World Today: สรุปประเด็นน่าติดตามประจำวันที่ 27 เมษายน 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 27, 2020 08:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวก 260.01 จุด หรือ 1.11% เมื่อวันศุกร์ (24 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับรายงานข่าวที่ว่า บางรัฐของสหรัฐเตรียมที่จะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ชะลอตัวลง นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามในร่างกฎหมายมาตรการเยียวยาธุรกิจขนาดเล็กและโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 วงเงิน 4.84 แสนล้านดอลลาร์

-- ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ลงนามในร่างกฎหมายมาตรการเยียวยาธุรกิจขนาดเล็กและโรงพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 วงเงิน 4.84 แสนล้านดอลลาร์เมื่อวันศุกร์ หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐให้การอนุมัติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ภายใต้มาตรการเยียวยาดังกล่าว ภาคธุรกิจขนาดย่อมจะได้รับความช่วยเหลือวงเงิน 3.70 แสนล้านดอลลาร์ ในการจ้างพนักงานต่อไป ขณะที่โรงพยาบาลต่างๆได้รับความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายวงเงิน 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวยังรวมถึงการจัดสรรเงิน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สำหรับการขยายการตรวจหาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19

-- นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆในสัปดาห์นี้ โดยในวันนี้จะเป็นการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะจัดขึ้นเพียงวันเดียว ในขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า BOJ จะดำเนินนโยบายผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการขยายโครงการซื้อสินทรัพย์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประชุมนโยบายการเงินในวันอังคารที่ 28 เม.ย. และจะแถลงมติอัตราดอกเบี้ยในวันพุธที่ 29 เม.ย.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ 30 เม.ย.ตามเวลาไทย

ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ยในวันพฤหัสบดีนี้ เวลาประมาณ 18.45 น.ตามเวลาไทย

-- นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ หลังจากที่มีการเปิดเศรษฐกิจในเดือนพ.ค.และมิ.ย.

นายมนูชินได้แสดงความเห็นดังกล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์เมื่อวานนี้ โดยกล่าวว่า มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงินนับล้านล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลนำมาใช้จ่ายนั้น จะส่งผลกระทบในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเชื่อว่า เมื่อภาคธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง ภาวะอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจก็จะดีดตัวขึ้นด้วย

นอกจากนี้ นายมนูชินกล่าวว่า การเปิดเศรษฐกิจนั้น จะต้องดำเนินการอย่างสมดุล ควบคู่ไปกับการเพิ่มการตรวจหาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19

-- สถาบันวิจัย Hyundai Research Institute (HRI) ของเกาหลีใต้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศจะหดตัวลง 0.3% ในปีนี้ โดยได้รับผลกระทบจากโควิด-19

รายงานของ HRI ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะหดตัวลง 0.9% ก่อนที่จะขยายตัวขึ้น 1.4% ในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากรัฐบาลได้ประกาศมาตรการกระตุ้นการเงินครั้งใหญ่เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์ของ HRI ยังคงสูงกว่าตัวเลขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งได้คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจของเกาหลีใต้จะหดตัวลง 1.2% หลังจากที่เศรษฐกิจโลกเผชิญแรงกดดันอย่างหนักนับตั้งแต่ยุค Great Depression หรือเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

-- นายพอล ชาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฮ่องกง ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า ฮ่องกงยังสามารถควบคุมความเสี่ยงทางการเงินได้ แม้จะเผชิญกับการประท้วงครั้งรุนแรงในปีที่ผ่านมา รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีนี้

นายชานกล่าวว่า การซื้อขายในตลาดการเงินของฮ่องกงยังดำเนินไปตามปกติ แม้จะเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก นอกจากนี้ ทางการฮ่องกงยังไม่พบว่ามีกระแสเงินทุนไหลออกในปริมาณที่มากเกินปกติ ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกงอยู่ที่ระดับ 7.75 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อดอลลาร์สหรัฐภายใต้ระบบเชื่อมโยงอัตราแลกเปลี่ยน (LERS) อยู่หลายครั้ง ซึ่งบ่งชี้ว่ายังคงมีกระแสเงินทุนไหลเข้า

-- ธนาคารกลางฟิลิปปินส์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์จะหดตัวลง 0.2% ในปี 2563 โดยถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งแบบรูปตัวยูสู่ระดับประมาณ 7.7% ในปี 2564

แบงก์ชาติฟิลิปปินส์ระบุในแถลงการณ์ว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะหดตัวลงในปีนี้ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า โดยได้แรงหนุนจากการดำเนินมาตรการและนโยบายต่างๆ เพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

-- จับตาข้อมูลเศรษฐกิจในวันนี้ โดยจีนเตรียมเปิดเผยกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. และสหรัฐเปิดเผย ดัชนีการผลิตเดือนเม.ย.จากเฟดสาขาดัลลัส

ส่วนในวันพรุ่งนี้ ญี่ปุ่นเตรียมเปิดเผยอัตราว่างงานเดือนมี.ค. ขณะที่ฝรั่งเศสเปิดเผยความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย. ทางด้านสหรัฐเตรียมเปิดเผยสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนมี.ค., ราคาบ้านเดือนก.พ.จากเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.จาก Conference Board


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ