กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรดิ่งลง 20.5 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นตัวเลขการจ้างงานที่ย่ำแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี ตัวเลขการจ้างงานในเดือนเม.ย.ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะร่วงลง 21.5 ล้านตำแหน่ง
ส่วนอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสู่ระดับ 14.7% ในเดือนเม.ย. ซึ่งสูงกว่าระดับ 10.8% ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานสูงสุดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ต่ำกว่าระดับ 24.9% ซึ่งเป็นตัวเลขอัตราการว่างงานในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ส่วนตัวเลขอัตราการว่างงานสูงสุดในช่วงเกิดวิกฤตการเงินในเดือนต.ค.2552 อยู่ที่ระดับ 10%
ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอัตราการว่างงานจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 16% ในเดือนเม.ย. หลังจากอยู่ที่ระดับ 4.4% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2560 ขณะที่แตะระดับ 3.5% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี
การทรุดตัวลงของตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรมีสาเหตุจากการที่ภาคธุรกิจได้พากันปิดกิจการ จากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก
ทั้งนี้ จำนวนคนว่างงานในเดือนเม.ย.พุ่งสู่ระดับ 23.1 ล้านราย เพิ่มขึ้น 15.9 ล้านรายเมื่อเทียบกับเดือนมี.ค.
ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน พุ่งขึ้นเกือบ 8% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ
กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนมี.ค. โดยปรับเป็นลดลง 870,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าลดลง 701,000 ตำแหน่ง และปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนก.พ. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 230,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 275,000 ตำแหน่ง
กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่าในเดือนเม.ย. ภาคเอกชนมีการจ้างงานลดลง 19.52 ล้านตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐจ้างงานลดลง 980,000 ตำแหน่ง
ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ลดลงสู่ระดับ 60.7% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2516