สหรัฐเปิดฉากตรวจสอบ 10 ประเทศเล็งเก็บภาษีดิจิทัล หวั่นบริษัทสหรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 3, 2020 08:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ประกาศว่า สหรัฐเริ่มตรวจสอบการเรียกเก็บภาษีการบริการดิจิทัลที่กำลังพิจารณาโดย 10 ประเทศคู่ค้าของสหรัฐ โดยสหรัฐจะทำการตรวจสอบดังกล่าวภายใต้กฎหมายมาตรา 301

"ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีความกังวลว่าการที่ประเทศคู่ค้าของเรากำลังพิจารณาเรียกเก็บภาษีดิจิทัลนั้น จะไม่เป็นธรรมต่อบริษัทของสหรัฐ" นายไลท์ไฮเซอร์กล่าว พร้อมระบุว่า ประเทศที่เข้าข่ายการถูกตรวจสอบในครั้งนี้ ได้แก่ สหภาพยุโรป, อินเดีย, ออสเตรีย, บราซิล, สาธารณรัฐเช็ก, อินโดนีเซีย, อิตาลี, สเปน, ตุรกี และสหราชอาณาจักร

ทั้งนี้ การตรวจสอบดังกล่าวจะพุ่งเป้าไปยังประเด็นที่ว่า ภาษีการบริการดิจิทัลเข้าข่ายเลือกปฏิบัติต่อบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐ เช่น แอปเปิล อิงค์ และกูเกิล หรือไม่ โดยสหรัฐจะดำเนินการตรวจสอบภายใต้กฎหมายมาตรา 301 ซึ่งเป็นมาตราเดียวกับที่คณะทำงานของปธน.ทรัมป์เคยนำมาใช้เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการค้าที่ไม่ยุติธรรมของจีน จนทำให้สหรัฐได้ตัดสินใจเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในเวลาต่อมา

เมื่อเดือนก.ค. 2562 ฝรั่งเศสได้ประกาศแผนการเรียกเก็บภาษีรายได้จากการให้บริการด้านดิจิทัลของบริษัทต่างๆ ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในฝรั่งเศส โดยจะเรียกเก็บในอัตรา 3% สำหรับบริษัทที่ทำรายได้ในฝรั่งเศสกว่า 25 ล้านยูโร (28 ล้านดอลลาร์) ขณะที่สหรัฐได้ออกมาตอบโต้ด้วยการขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากฝรั่งเศส

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ปีนี้ ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ตกลงที่จะชะลอการเก็บภาษีศุลกากรออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 และในระหว่างนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) จะมีการเจรจาต่อรองกันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับประเด็นภาษีดิจิทัล

ทั้งนี้ กฎหมายมาตรา 301 ของสหรัฐซึ่งได้มีการปรับเนื้อหากฎหมายด้านการค้าในปี 2517 นั้น อนุญาตให้ประธานาธิบดีสหรัฐสามารถสั่งการให้เรียกเก็บภาษีนำเข้าหรือใช้มาตรการที่เข้มงวดด้านการค้าต่อประเทศอื่นๆได้ อย่างไรก็ดี หลายประเทศทั่วโลกได้แสดงความกังวลว่า การใช้มาตรา 301 ของสหรัฐอาจขัดต่อกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (WTO) และสร้างความเสียหายต่อระบบการค้าพหุภาคี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ