World Today: สรุปประเด็นน่าติดตามประจำวันที่ 26 มิถุนายน 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 26, 2020 09:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเกือบ 300 จุดเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนรุกซื้อหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังจากรัฐบาลสหรัฐประกาศผ่อนคลายข้อกำหนดการลงทุนสำหรับภาคธนาคาร ขณะที่นักลงทุนจับตาธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมเปิดเผยผลการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ

-- ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำหนดให้ธนาคารรายใหญ่ของสหรัฐจะต้องกันเงินทุนสำรองไว้ที่ระดับปัจจุบันด้วยการระงับการซื้อหุ้นคืน และจำกัดการจ่ายเงินปันผลในไตรมาส 3/2563 โดยคำสั่งดังกล่าวมีขึ้น หลังจากการเปิดเผยผลการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ของธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ 34 แห่งในสหรัฐเมื่อวานนี้

เฟดระบุว่า เกณฑ์ในการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจ่ายเงินปันผลนั้น จะพิจารณาจากกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งการคำนวณตามเกณฑ์ดังกล่าว อาจทำให้ธนาคารบางแห่งต้องปรับลดการจ่ายเงินปันผล ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดรายหนึ่งกล่าวว่า กฎเกณฑ์ดังกล่าวอาจทำให้ธนาคารบางแห่งไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้

-- จับตาตลาดหุ้นเอเชียวันนี้ คาดปรับตัวเพิ่มขึ้นตามตลาดหุ้นสหรัฐซึ่งปิดดีดตัวขึ้น เนื่องจากนักลงทุนรุกซื้อหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังจากรัฐบาลสหรัฐประกาศผ่อนคลายข้อกำหนดการลงทุนสำหรับภาคธนาคาร ขณะที่นักลงทุนจับตาธนาคารกลางสหรัฐเตรียมเปิดเผยผลการทดสอบภาวะวิกฤตของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐ

-- วุฒิสภาสหรัฐได้อนุมัติมาตรการลงโทษธนาคารที่ทำธุรกิจกับเจ้าหน้าที่จีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายความมั่นคงของชาติที่สหรัฐมีเป้าหมายประกาศใช้กับฮ่องกง โดยมีเป้าหมายเพื่อลงโทษผู้ที่พยายาม "ทำลายเอกราชของฮ่องกง" รวมถึง" เสรีภาพขั้นพื้นฐาน" ของชาวฮ่องกง

-- Wirecard ซึ่งเป็นผู้ให้บริการชำระเงินผ่านระบบอิเลกทรอนิกส์ของเยอรมนี ประกาศยื่นคำร้องต่อศาลในกรุงมิวนิคเพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์จากภาวะล้มละลาย เนื่องจากบริษัทประสบปัญหาหนี้สินจำนวนมาก

การยื่นคำร้องต่อศาลดังกล่าวมีขึ้น หลังบริษัทเปิดเผยว่าเงินจำนวน 1.9 พันล้านยูโรในงบดุลบัญชีได้สูญหายไป ขณะที่บริษัทมีหนี้สินราว 3.5 พันล้านยูโร

Wirecard เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เยอรมนี ซึ่งในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุด บริษัทมีมูลค่าตลาดสูงถึง 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ดี ชื่อเสียงของบริษัทเริ่มได้รับผลกระทบในเดือนก.พ.ปีที่แล้ว จากการที่ตำรวจสิงคโปร์เริ่มทำการสอบสวนบริษัท หลังจากสื่อรายงานว่าบริษัทได้ทำผิดกฎระเบียบทางการเงินในสำนักงานที่สิงคโปร์

-- Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 9,552,107 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 485,434 ราย

สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก (2,462,713) รองลงมาคือบราซิล (1,192,474), รัสเซีย (613,994), อินเดีย (474,242), สหราชอาณาจักร (306,862) และสเปน (294,166)

นอกจากนี้ สหรัฐยังเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลก (124,282) ตามมาด้วยบราซิล (53,874), สหราชอาณาจักร (43,081), อิตาลี (34,644) และฝรั่งเศส (29,731)

-- สำนักข่าว NBC รายงานว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในสหรัฐได้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์เมื่อวานนี้ โดยมีการรายงานผู้ติดเชื้อจำนวน 45,557 ราย

จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ดังกล่าวสูงกว่าสถิติเดิมที่ทำไว้ในวันที่ 26 เม.ย.กว่า 9,000 ราย

ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าการพุ่งขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อในรัฐแถบตะวันตกและทางใต้ของสหรัฐอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงวันหยุดทหารผ่านศึก ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นในหลายรัฐได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และประกาศเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง

-- คณะกรรมการประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) แถลงเมื่อคืนนี้ว่า FDIC ได้ผ่อนคลายข้อกำหนดจาก Volcker Rule โดยจะอนุญาตให้ธนาคารสหรัฐสามารถทำการลงทุนได้มากขึ้น

ทั้งนี้ การผ่อนคลายข้อจำกัดดังกล่าว จะทำให้ธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐสามารถเข้าลงทุนในกองทุนร่วมลงทุน (venture capital) หรือกองทุนอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้รับการยกเว้นจากการสำรองเงินสดสำหรับการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ระหว่างบริษัทในเครือ

-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 1.48 ล้านรายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.35 ล้านราย

ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกยังคงมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านรายติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 14 แม้ว่ารัฐต่างๆได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และได้เปิดเศรษฐกิจครั้งใหม่

อย่างไรก็ดี ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเมื่อคืนนี้ ต่ำกว่าที่มีการรายงานในสัปดาห์ที่แล้วที่ระดับ 1.5 ล้านราย โดยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์แตะระดับ 6.9 ล้านรายในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 28 มี.ค.

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายสำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2563 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวลง 5% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 หลังจากที่ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ระบุว่าหดตัวลง 4.8% โดยได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล ซึ่งทำให้มีการปิดเศรษฐกิจเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลข GDP ติดลบ นับตั้งแต่ที่มีการรายงานว่าเศรษฐกิจหดตัว 1.1% ในไตรมาส 1/2557 และเป็นตัวเลขที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจหดตัว 8.4% ในไตรมาส 4/2551 ซึ่งขณะนั้นสหรัฐกำลังเผชิญวิกฤตการเงิน

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวลง 30% ในไตรมาส 2

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐ เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป พุ่งขึ้น 15.8% ในเดือนพ.ค. หลังจากร่วงลง 18.1% ในเดือนเม.ย.

การพุ่งขึ้นของยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนในเดือนพ.ค. ได้รับแรงหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลังจากมีการปิดเศรษฐกิจก่อนหน้านี้เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และสินค้าด้านอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือนพ.ค. หลังจากดิ่งลง 6.5% ในเดือนเม.ย.

-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญวันนี้ สหรัฐเตรียมรายงานดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนพ.ค. เวลา 19.30 น. ตามเวลาไทย

จากนั้นมหาวิทยาลัยมิชิแกน จะรายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. เวลา 21.00 น.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ