นายจาร์บาส บาร์โบซา ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภาคพื้นอเมริกา กล่าวว่า WHO ยังไม่ได้รับข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของรัสเซีย
นอกจากนี้ นายบาร์โบซายังกล่าวว่า รัสเซียไม่ควรผลิตวัคซีนดังกล่าวในบราซิล จนกว่าจะเสร็จสิ้นการทดลองในเฟส 2 และ 3 เพื่อรับประกันความปลอดภัย และความมีประสิทธิภาพ
"ผู้ผลิตวัคซีนควรปฏิบัติตามกระบวนการที่จะรับรองความปลอดภัย และได้รับคำแนะนำจาก WHO" นายบาร์โบซากล่าว
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศว่า รัสเซียเป็นประเทศแรกของโลกที่ให้การอนุมัติการจดทะเบียนวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19
ปธน.ปูตินกล่าวว่า วัคซีนดังกล่าวจะถูกตั้งชื่อว่า "สปุตนิก 5" เนื่องจากความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนดังกล่าวเทียบเท่ากับความสำเร็จของรัสเซียในยุคสหภาพโซเวียตในการแข่งขันด้านอวกาศกับสหรัฐในช่วงสงครามเย็น ซึ่งสหภาพโซเวียตสามารถส่งดาวเทียม"สปุตนิก"ขึ้นสู่วงโคจรเป็นครั้งแรกของโลก
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายแสดงความกังขาต่อการที่ทางการรัสเซียอนุมัติวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในวันนี้ เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวใช้เวลาทดลองทางคลินิกกับมนุษย์ไม่ถึง 2 เดือน และยังไม่มีการทดลองในเฟส 3 ขณะที่การทดลองทางคลินิกประสบความสำเร็จเพียง 10%
ทางด้านปธน.ปูตินยืนยันว่าวัคซีนดังกล่าวมีความปลอดภัย และบุตรสาวคนหนึ่งของเขาก็ได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าวแล้ว โดยได้เข้าเป็นอาสาสมัครคนหนึ่งในโครงการทดลองวัคซีน
วัคซีนดังกล่าวได้รับการพัฒนาโดยสถาบันกามาเลยาของรัสเซีย และคาดว่าจะมีการผลิตจำนวนมากในช่วงปลายปีนี้ ขณะที่หลายประเทศได้แสดงความจำนงที่จะซื้อวัคซีนจำนวนรวม 1 พันล้านโดส โดยจะมีการผลิตในบราซิล ส่วนการทดลองทางคลินิกจะมีการดำเนินการในฟิลิปปินส์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ทางด้านนายอเล็กซ์ อาซาร์ รัฐมนตรีสาธารณสุขสหรัฐ กล่าวว่า สำหรับสหรัฐแล้ว ความปลอดภัยถือเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในการผลิตวัคซีน และการทดลองในขั้นสุดท้ายถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ
นายอาซาร์เปิดเผยว่า สหรัฐจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพภายในปลายปีนี้ โดยขณะนี้บริษัทและหน่วยงานต่างๆของสหรัฐกำลังมีการพัฒนาวัคซีน 6 ตัว
"ประเด็นคือการมีวัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่การเป็นที่หนึ่งในการจดทะเบียนวัคซีน" นายอาซาร์กล่าว