คณะรัฐมนตรีของนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศลาออกทั้งคณะแล้วในช่วงเช้าวันนี้ ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดการบริหารประเทศที่ยาวนานเป็นประวัติการณ์เกือบ 8 ปีของนายอาเบะ
นายอาเบะได้แถลงที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีในวันนี้ว่า "ผมใช้เวลาทุกวันในการพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และใช้แนวทางการทูตเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของญี่ปุ่น ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่สามารถทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกับประชาชนชาวญี่ปุ่นในช่วงเวลานี้ และผมขอขอบคุณทุกท่าน จากใจจริงของผม"
หลังจากคณะรัฐมนตรีทั้งคณะของนายอาเบะลาออกแล้ว โยชิฮิเดะ ซูงะ ประธานพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) จะเข้าพิธีรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่อย่างเป็นทางการที่พระราชวังอิมพีเรียลในวันนี้ และจากนั้นจะจัดการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในช่วงเย็นวันนี้
-- นักลงทุนจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันพุธตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีตามเวลาไทย ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ที่ประชุมเฟดจะให้รายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับ "เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย" ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ได้กล่าวถึงในการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญ
-- Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 29,717,040 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 938,447 ราย
สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก (6,788,147) รองลงมาคืออินเดีย (5,018,034), บราซิล (4,384,299), รัสเซีย (1,073,849), เปรู (738,020) และโคลอมเบีย (728,590)
นอกจากนี้ สหรัฐยังเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลก (200,197) ตามมาด้วยบราซิล (133,207), อินเดีย (82,091), เม็กซิโก (71,049) และสหราชอาณาจักร (41,664)
-- องค์การการค้าโลก (WTO) มีคำตัดสินเมื่อวานนี้ว่า การที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมต่อสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2561 ถือเป็นการละเมิดกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ
คณะกรรมการไต่สวนของ WTO มีคำวินิจฉัยว่า การดำเนินการของสหรัฐเป็นการละเมิดกฎระเบียบทางการค้า เนื่องจากสหรัฐเรียกเก็บภาษีจากสินค้านำเข้าจากจีนเท่านั้น และสหรัฐไม่สามารถชี้แจงให้เห็นว่าสินค้าจีนที่ถูกเรียกเก็บภาษีดังกล่าว ได้รับประโยชน์จากการดำเนินการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน
ด้านนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้ออกแถลงการณ์หลังจากที่ WTO มีคำวินิจฉัยดังกล่าว โดยระบุว่า "คำตัดสินดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า WTO ไม่ได้ช่วยเยียวยาการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องของจีน โดยสหรัฐควรได้รับโอกาสในการปกป้องตัวเองจากการดำเนินการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม และรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะไม่ปล่อยให้จีนอาศัย WTO เพื่อมาเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ภาคธุรกิจ เกษตรกร และชาวไร่ของสหรัฐ"
-- ผลการสำรวจของสำนักข่าว CNBC พบว่า นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00-0.25% และจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2566
ผลการสำรวจพบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จากจำนวน 37 รายที่ถูกสำรวจ เชื่อว่าเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยต่อไป แม้ว่าเงินเฟ้ออยู่เหนือระดับเป้าหมาย 2% ขณะที่นักวิเคราะห์ 45% ระบุว่า เฟดจะปล่อยให้เงินเฟ้ออยู่เหนือระดับเป้าหมายเป็นเวลา 6-12 เดือนโดยไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ 41% เชื่อว่าเฟดจะปล่อยให้เงินเฟ้ออยู่เหนือระดับเป้าหมายเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 12 เดือน
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์มากกว่า 50% เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้ผ่านพ้นภาวะถดถอยแล้ว โดยภาวะถดถอยได้สิ้นสุดลงในเดือนพ.ค.
นักวิเคราะห์ยังคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัว 2.6% ในปีนี้ ซึ่งดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนก.ค.ที่ระบุว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 4.5%
โดยรวมแล้ว นักวิเคราะห์ 69% ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการฟื้นตัวรวดเร็วกว่าที่พวกเขาคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
-- สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในปีนี้ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้กระทบอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก
ทั้งนี้ IEA คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันที่ระดับ 91.7 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ โดยลดลง 8.4 ล้านบาร์เรล/วันเมื่อเทียบกับอุปสงค์ในปีที่แล้ว ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์ในเดือนส.ค.ระบุว่าจะลดลง 8.1 ล้านบาร์เรล/วัน
อย่างไรก็ดี IEA คาดว่าอุปสงค์น้ำมันในปีหน้าจะเพิ่มขึ้น 5.5 ล้านบาร์เรล/วัน สู่ระดับเฉลี่ย 97.1 ล้านบาร์เรล/วัน
-- ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนส.ค. หลังจากพุ่งขึ้น 3.5% ในเดือนก.ค. โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้แรงหนุนจากการผลิตของภาคโรงงาน ซึ่งช่วยชดเชยการชะลอตัวของภาคสาธารณูปโภค และภาคเหมืองแร่
ทั้งนี้ การผลิตของภาคโรงงานเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนส.ค. ขณะที่ภาคสาธารณูปโภคลดลง 0.4% และภาคเหมืองแร่ดิ่งลง 2.5%
-- กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีราคานำเข้าดีดตัวขึ้นมากกว่าคาดในเดือนส.ค. โดยปรับตัวขึ้น 0.9% เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากพุ่งขึ้น 1.2% ในเดือนก.ค.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าดัชนีราคานำเข้าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% ในเดือนส.ค.
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายปี ดัชนีราคานำเข้าลดลง 1.4% ในเดือนส.ค. หลังจากดิ่งลง 2.8% ในเดือนก.ค.
-- ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า บริษัทของเกาหลีใต้มีผลประกอบการร่วงลงในอัตราเลขสองหลักในช่วงไตรมาสที่ 2 เนื่องจากเศรษฐกิจที่ซบเซาจากการระบาดของโควิด-19
ข้อมูลจาก BOK บ่งชี้ว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ผลประกอบการของธุรกิจในเกาหลีใต้ลดลง 10.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หลังจากที่หดตัวลง 1.9% ในไตรมาสแรกของปีนี้
ตัวเลขดังกล่าวเป็นการดิ่งตัวลงหนักสุดนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลนี้เมื่อปี 2558 ซึ่งการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทั้งบริษัทในภาคการผลิตและภาคบริการ
ยอดขายของบริษัทในภาคการผลิตลดลง 12.7% ในช่วงไตรมาส 2 หลังจากลดลง 1.9% ในช่วงไตรมาสแรก ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทภาคบริการลดลง 6.5% ในไตรมาสที่ 2 และ 1.9% ในไตรมาสแรก
-- สำนักงานสถิติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยว่า อัตราว่างงานในอังกฤษปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เริ่มมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันโควิด-19 เมื่อเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา
อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.1% ในช่วงเดือนพ.ค.-ก.ค. จากระดับ 3.9% เมื่อเดือนเม.ย.-มิ.ย. ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้มีงานทำในช่วงเดือนพ.ค.-ก.ค. ลดลงเพียง 12,000 คนจากช่วงสามเดือนก่อนหน้า ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะลดลงถึง 125,000 คน
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจำนวนผู้ว่างงานมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการรักษาการจ้างงานของรัฐบาลกำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนต.ค.นี้
-- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีพุ่งขึ้นสู่ระดับ 77.4 ในเดือนก.ย. จากระดับ 71.5 ในเดือนส.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าดัชนีจะลดลงสู่ระดับ 69.8
การดีดตัวของดัชนีความเชื่อมั่นได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ขณะที่นักลงทุนผ่อนคลายความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจเยอรมนี
ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันดีดตัวสู่ระดับ -66.2 จากระดับ -81.3 ในเดือนส.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -72.0
-- แอปเปิล เปิดตัวผลิตภัณฑ์ Apple Watch และ iPad รุ่นใหม่ ในงานแอปเปิลอีเวนต์ซึ่งจัดขึ้นเมื่อคืนนี้ ขณะที่ iPhone 12 คาดว่าจะเปิดตัวในวันที่ 13 ต.ค. โดยจะเป็นรุ่นมาตรฐาน 2 รุ่น ส่วนอีก 2 รุ่นจะเป็นรุ่นไฮเอนด์ ซึ่งทุกรุ่นจะรองรับระบบ 5G
ในงานดังกล่าว แอปเปิลได้เปิดตัว Apple Watch Series 6 และ Apple Watch SE ซึ่งเป็นรุ่นราคาถูก โดย Apple Watch Series 6 ซึ่งมีคุณสมบัติในการตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือดของผู้ใช้ จะมีราคาเริ่มต้นที่ 399 ดอลลาร์ ขณะที่ Apple Watch SE จะเริ่มต้นที่ 279 ดอลลาร์
นอกจากนี้ แอปเปิลยังเปิดตัว iPad Air รุ่นใหม่ โดยมีราคาเริ่มต้นที่ 599 ดอลลาร์ ส่วน iPad Gen 8 ซึ่งเป็น iPad รุ่นราคาถูก จะมีราคาเริ่มต้นที่ 329 ดอลลาร์ ขณะที่ iPad สำหรับนักศึกษาจะมีราคาเริ่มต้นที่ 299 ดอลลาร์
ขณะเดียวกัน แอปเปิลเปิดตัว Apple One ซึ่งเป็นการรวมบริการของแอปเปิลเข้าไว้เป็นแพคเกจเดียวกัน โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ แบบรายบุคคล คิดค่าบริการ 14.05 ดอลลาร์/เดือน แบบครอบครัว (ไม่เกิน 5 คน) คิดค่าบริการ 19.95 ดอลลาร์/เดือน และแบบพรีเมียร์ คิดค่าบริการ 29.95 ดอลลาร์/เดือน
-- จับตาข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในวันนี้ โดยอังกฤษมีกำหนดการเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนส.ค. อียูจะเปิดเผยดุลการค้าเดือนก.ค. และสหรัฐจะเปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนส.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจเดือนก.ค., ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.ย.จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB), สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รวมถึงการแถลงมติอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ซึ่งตรงกับช่วงเช้าวันที่ 17 ก.ย. ตามเวลาไทย
ส่วนในวันพรุ่งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีกำหนดการจัดประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย อียูมีกำหนดการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนส.ค. ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จะจัดประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย และสหรัฐเตรียมเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนส.ค. และดัชนีการผลิตเดือนก.ย.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย