สถาบันเศรษฐกิจและการค้าของเกาหลี (KIET) เปิดเผยว่า ความพยายามของรัฐบาลเกาหลีใต้ในการผลักดันให้บริษัทของเกาหลีใต้ย้ายฐานการผลิตจากจีนกลับประเทศนั้นประสบความล้มเหลว แม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดจนความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในการพึ่งพาฐานการผลิตในจีนมากเกินไปก็ตาม
KIET เปิดเผยว่า มีบริษัทเกาหลีใต้เพียง 80 แห่งจากจำนวนหลายพันแห่งที่ย้ายการปฏิบัติงานบางส่วนจากจีนกลับประเทศ นับตั้งแต่ที่เกาหลีใต้ออกกฎหมายยูเทิร์น (U-turn) เมื่อปี 2556 เพื่อยับยั้งกระแสการผลิตในต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น
KIET กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ได้ขยายมาตรการให้เงินอุดหนุนสำหรับภาคบริการและบริษัทไอทีเมื่อต้นปีนี้ ทว่าก็ยังไม่สามารถสร้างแรงดึงดูดได้มากพอที่จะทำให้บริษัทเกาหลีย้ายกลับประเทศ
นอกจากนี้ KIET ระบุว่า บริษัทที่พิจารณาจะลดการดำเนินงานในจีนนั้น ต้องการย้ายฐานการผลิตไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทนการกลับประเทศ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่า เกาหลีใต้พลาดโอกาสที่จะนำตำแหน่งงานกลับประเทศ, สร้างเสถียรภาพให้แก่ห่วงโซ่อุปทานท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตในประเทศ
นายเบ โฮ-ยอง นักวิจัยของสมาพันธ์ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเกาหลี (KBIZ) กล่าวว่า "อุปสรรคในเกาหลีใต้นั้นสูงเกินไป" โดยระบุถึงตลาดแรงงานที่ตึงตัว, ต้นทุนการจ้างงานที่สูงขึ้น และกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม
ผลสำรวจของ KBIZ ที่จัดทำขึ้นเมื่อเดือนมิ.ย.ระบุว่า บริษัทเกาหลีใต้ 7 ใน 10 แห่งในจีน ไม่สนใจที่จะย้ายกลับเกาหลีใต้ ขณะที่บริษัทเกาหลีใต้ 9 ใน 10 แห่งในเวียดนามระบุว่า ไม่มีแผนที่จะย้ายกลับไปยังเกาหลีใต้
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีมูน แจอินของเกาหลีใต้ได้พยายามผลักดันให้มีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้สูงขึ้น, ลดชั่วโมงการทำงานลง และเพิ่มการจ้างพนักงานประจำ ซึ่งบรรดานักวิจารณ์มองว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นการเพิ่มต้นทุนการทำธุรกิจ และสกัดกั้นการจ้างงานใหม่