สภาทองคำโลก (WGC) เปิดเผยว่า ธนาคารกลางทั่วโลกขายทองคำเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีหรือนับตั้งแต่ปี 2553 โดยเฉพาะธนาคารกลางของประเทศผู้ผลิตทองคำที่ใช้โอกาสในช่วงที่ราคาทองคำพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เทขายทองคำเพื่อระดมเงินสดไว้ใช้ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ข้อมูลจาก WGC ระบุว่า ธนาคารกลางทั่วโลกขายทองคำรวมกันทั้งสิ้น 12.1 ตันในไตรมาส 3/2563 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ธนาคารกลางเข้าซื้อทองคำในปริมาณ 141.9 ตัน โดยธนาคารกลางอุซเบกิสถานและตุรกีนำทองคำออกมาขายมากที่สุด
หลุยส์ สตรีท หัวหน้านักวิเคราะห์ของ WGC กล่าวว่า เขาไม่แปลกใจที่ธนาคารกลางนำทองคำสำรองออกมาขาย โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาทองคำพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุด
WGC ระบุว่า ธนาคารกลางตุรกีขายทองคำในปริมาณ 22.3 ตัน และธนาคารกลางอุซเบกิสถานขายทองคำปริมาณ 34.9 ตันในไตรมาส 3 โดยอุซเบกิสถานต้องการเพิ่มความหลากหลายของทุนสำรองต่างประเทศนอกเหนือไปจากการถือครองทองคำ
ข้อมูลจาก WGC ระบุว่า ราคาทองคำทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาส 3 แม้ความต้องการทองคำแท่งปรับตัวลง 19% สู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2552 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากความต้องการอัญมณีในอินเดียที่ลดลงถึง 50% ขณะที่ความต้องการอัญมณีในจีนชะลอตัวลงเช่นกัน
ส่วนปริมาณทองคำในไตรมาส 3 ลดลง 3% เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากการผลิตในเหมืองทองคำยังคงได้รับแรงกดดันอย่างหนัก แม้ในช่วงหลังจากที่หลายประเทศ เช่นแอฟริกาใต้ ได้ประกาศยกเลิกมาตรการคุมเข้มในการสกัดโควิด-19 แล้วก็ตาม