จับตาทิศทางตลาดหุ้นเอเชียวันนี้ ขณะที่นักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยล่าสุด รัฐแคลิฟอร์เนียประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิวในคืนวันพฤหัสบดีตามเวลาสหรัฐ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มาตรการดังกล่าวกำหนดให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านตั้งแต่เวลา 22.00 น. - 05.00 น. โดยมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 21 พ.ย.นี้ จนถึงวันที่ 21 ธ.ค. โดยรัฐบาลรัฐแคลิฟอร์เนียจะขยายเวลาใช้มาตรการเคอร์ฟิวออกไปอีก หากอัตราการติดเชื้อและแนวโน้มของโรคระบาดยังไม่ปรับตัวดีขึ้น
-- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ หลังจากนายชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภาสหรัฐสังกัดพรรคเดโมแครต เปิดเผยว่า นายมิทช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสังกัดพรรครีพับลิกัน ได้ตกลงที่จะกลับมาเจรจาเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้หลายรัฐในสหรัฐประกาศใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวกำลังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ
-- องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกคำแนะนำไม่ให้แพทย์ใช้ยา remdesivir ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสของบริษัทกิลเลียด ไซแอนเซส ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ยาดังกล่าวสามารถช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตหรือร่นระยะเวลาการฟื้นตัวของผู้ป่วย โดยคำแนะนำดังกล่าวขัดแย้งกับคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ที่อนุมัติให้มีการใช้ยา remdesivir ของบริษัทกิลเลียดเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ให้กับผู้ป่วยในโรงพยาบาล
WHO Guideline Development Group (GDG) ซึ่งเป็นคณะผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำต่างๆ แก่ WHO นั้น ระบุว่า คำแนะนำดังกล่าวของ GDG อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลใหม่ที่นำมาเปรียบเทียบกับผลของการรักษาด้วยยาหลากหลายชนิด ซึ่งรวมถึงข้อมูลจากการทดลองใช้ยา remdesivir ทั่วโลกจำนวน 4 ครั้ง โดยใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 กว่า 7,000 คนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
-- กองทุนการเงินระหว่างประเทศและกลุ่ม G20 ได้ออกมาเตือนว่า การแพร่ระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 ทั่วโลกเป็นอุปสรรคต่อการที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากภาวะถดถอย เนื่องจากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจต้องแบกรับภาระจากการที่ต้องปฏิบัติตามข้อจำกัดต่างๆ ขณะที่บริษัท Oxford Economics เปิดเผยว่า อินเดียเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ด้วยกันเอง
-- Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 56,708,440 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1,357,553 ราย
สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก (11,876,240) รองลงมาคืออินเดีย (8,960,098), บราซิล (5,947,403), ฝรั่งเศส (2,065,138) และรัสเซีย (2,015,608)
-- กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียเปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวน 4,798 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 483,518 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
ขณะนี้ การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ลุกลามไปทั้ง 34 จังหวัดของอินโดนีเซีย
ส่วนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่มีจำนวน 97 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตรวม 15,600 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในอาเซียนเช่นกัน
-- กระทรวงสาธารณสุขและการกีฬาของเมียนมาแถลงว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวน 1,560 ราย ส่งผลให้ขณะนี้เมียนมามีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมอยู่ที่ 74,882 ราย
นอกจากนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น 26 ราย สู่ระดับ 1,676 ราย
ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเมียนมาได้พุ่งขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่ที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเป็นครั้งแรกเพียง 2 รายในวันที่ 23 มี.ค.
-- นายเดวิด ฟรอสต์ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะเจรจาของอังกฤษ กล่าวว่า อังกฤษและสหภาพยุโรป (EU) เห็นพ้องกันในการระงับการเจรจาข้อตกลงการค้าชั่วคราว หลังจากพบว่าเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของ EU ติดเชื้อโควิด-19
"ผมกำลังติดต่อกับคุณมิเชล บาร์นิเยร์ (หัวหน้าผู้แทนการเจรจาฝ่าย EU) เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเราต้องให้ความสำคัญต่อสุขภาพของคณะเจ้าหน้าที่ของเราก่อน" ข้อความในทวิตเตอร์ของนายฟรอสต์ระบุ
ก่อนหน้านี้ นายบาร์นิเยร์กล่าวว่า การบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่าง EU และอังกฤษยังคงมีความเป็นไปได้
นักลงทุนจับตาการเจรจาข้อตกลงการค้าระหว่างอังกฤษและ EU ก่อนที่ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของอังกฤษในการแยกตัวออกจาก EU จะสิ้นสุดลงในปลายปีนี้ ซึ่งหากทั้งสองฝ่ายประสบความล้มเหลวในการเจรจา อังกฤษก็จะแยกตัวออกจาก EU โดยไม่มีการทำข้อตกลง (no-deal Brexit)
-- เมซีส์ อิงค์ ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ของสหรัฐ รายงานตัวเลขยอดขายดิ่งลงมากกว่า 20% ในไตรมาส 3 ขณะที่ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงมีผลประกอบการสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 742,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 710,000 ราย จากระดับ 709,000 รายที่มีการรายงานในสัปดาห์ก่อนหน้านี้
สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยดีดตัวขึ้น 4.3% สู่ระดับ 6.85 ล้านยูนิตในเดือนต.ค. หลังจากแตะระดับ 6.57 ล้านยูนิตในเดือนก.ย.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดขายบ้านจะลดลง 1.2% สู่ระดับ 6.45 ล้านยูนิตในเดือนต.ค.
การเพิ่มขึ้นของยอดขายบ้านได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในตลาด สต็อกบ้านที่ลดลง อัตราดอกเบี้ยจำนองในระดับต่ำ และราคาบ้านที่ดีดตัวขึ้น
-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญวันนี้ ธนาคารกลางจีนกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ประจำเดือนพ.ย. เวลา 08.30 น. ตามเวลาไทย
เมื่อเดือนต.ค. ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี ไว้ที่ระดับ 3.85% และคงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปี ไว้ที่ระดับ 4.65% โดยธนาคารกลางจีนได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยทั้งสองประเภทติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 และสอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ ศูนย์ระดมทุนระหว่างธนาคารแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรในสังกัดธนาคารกลางจีน จะเปิดเผยระดับอัตราดอกเบี้ย LPR ในทุกๆ เดือน โดยมาตรการดังกล่าวถือเป็นการปรับปรุงและปฏิรูปกลไกในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR และเป็นความพยายามล่าสุดที่จะปรับลดต้นทุนการกู้ยืมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ