EU จ่อคลอดกฎหมายคุม "กูเกิล-แอมะซอน" สกัดผูกขาดบริการออนไลน์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 16, 2020 10:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสภาพยุโรป (EU) ได้เปิดเผยร่างกฎหมาย 2 ฉบับเพื่อควบคุมบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงกูเกิล และแอมะซอน เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะบิดเบือนการแข่งขันทางออนไลน์ หรือละเมิดสิทธิของผู้บริโภคด้วยการผูกขาดการบริการทางอินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้ EU ได้เสนอร่างกฎหมาย Digital Services Act (DSA) และร่างกฎหมาย Digital Market Act (DMA) เมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นการเสนอร่างกฎหมายควบคุมธุรกิจออนไลน์ครั้งแรก นับตั้งแต่ที่ EU ได้ผ่านร่างกฎหมาย e-Commerce Directive ในปี 2543

ภายใต้ร่างกฎหมาย DMA นั้น แพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานทั่วไปต่อเดือนกว่า 45 ล้านราย หรือมีผู้ใช้งานทางธุรกิจต่อปี 10,000 รายใน EU นั้น จะถูกพิจารณาว่าเป็น "คนเฝ้าประตู" (gatekeeper) ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้จะต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า สภาพแวดล้อมด้านธุรกิจออนไลน์จะดำเนินไปอย่างยุติธรรมทั้งสำหรับภาคธุรกิจและผู้บริโภค

ร่างกฎหมาย DMA ระบุว่า แพลตฟอร์มที่มีสถานะเป็นคนเฝ้าประตู จะไม่ได้รับอนุญาตให้ปิดกั้นผู้ใช้งานจากการยกเลิกการติดตั้งซอฟท์แวร์หรือแอปพลิเคชัน, ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ข้อมูลที่ได้จากผู้ใช้งานทางธุรกิจเพื่อแข่งขันกับพวกเขา หรือห้ามปิดกั้นผู้ใช้งานจากการเข้าถึงการบริการต่างๆ ที่อยู่นอกแพลตฟอร์มของคนเฝ้าประตู

หากคนเฝ้าประตูไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว EC สามารถลงโทษด้วยการปรับเงินสูงถึง 10% ของรายได้ต่อปีทั้งหมดที่บริษัทได้รับจากธุรกิจทั่วโลก

ส่วนร่างกฎหมาย DSA ได้กำหนดให้แพลตฟอร์มออนไลน์ลบรายการสินค้า การบริการ หรือเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย และต้องแสดงความโปร่งใสมากเพียงพอในการทำโฆษณา และสร้างอัลกอริธึมที่ใช้ในการแนะนำคอนเทนต์ให้กับผู้ใช้งาน

นางมาร์กาเร็ต เวสตาเกอร์ รองประธานบริหารฝ่ายกิจการดิจิทัลของ EU เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า "ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ มีเป้าหมายที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่า เราซึ่งอยู่ในฐานะผู้ใช้งาน ลูกค้า และนักธุรกิจ มีสิทธิเข้าถึงผลิตภัณฑ์และการบริการทางออนไลน์ที่ปลอดภัยเป็นวงกว้าง เช่นเดียวกับที่เราได้รับความปลอดภัยในการใช้บริการระบบออฟไลน์"


แท็ก กูเกิล   ยุโรป  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ