กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกลดลง 1.1% ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 2 หลังจากลดลง 0.1% ในเดือนต.ค.
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่ายอดค้าปลีกลดลงเพียง 0.3% ในเดือนพ.ย.
การชะลอตัวของยอดค้าปลีกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการที่ภาคครัวเรือนมีรายได้ลดลง เนื่องจากชาวอเมริกันจำนวนมากประสบภาวะตกงาน
ส่วนยอดค้าปลีกพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมยอดขายรถยนต์ น้ำมัน วัสดุก่อสร้าง และอาหาร ลดลง 0.5% ในเดือนพ.ย. หลังจากลดลง 0.1% ในเดือนต.ค.
นอกจากนี้ บิตคอยน์ได้ดีดตัวขึ้น หลังจากที่กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยรายงานรอบครึ่งปีว่าด้วยประเทศที่บิดเบือนค่าเงินในวันนี้ โดยได้ขึ้นบัญชีเวียดนามและสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ทำการปั่นค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า
ขณะเดียวกัน สหรัฐได้ขึ้นบัญชีไทย, ไต้หวัน และอินเดีย เป็นประเทศล่าสุดที่ถูกจับตามอง เนื่องจากอาจมีการใช้มาตรการลดค่าเงินเมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์
ส่วนประเทศอื่นที่ถูกจับตามองได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ อิตาลี และเยอรมนี
ทั้งนี้ บิตคอยน์นับเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ทำราคาดีที่สุดในปีนี้ โดยพุ่งขึ้นมากกว่า 170% นับตั้งแต่ต้นปีนี้
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การดีดตัวของบิตคอยน์ในครั้งนี้แตกต่างจากในอดีต เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากกระแสตอบรับที่คึกคักจากกลุ่มบริษัทฟินเทค และนักลงทุนรายใหญ่ในตลาด เช่น พอล ทิวดอร์ โจนส์ และสแตนลีย์ ดรักเคนมิลเลอร์ โดยแตกต่างจากในปี 2560 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรายย่อย
PayPal ยักษ์ใหญ่ฟินเทค ประกาศว่า ทางบริษัทจะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถทำการซื้อขายบิตคอยน์ และสกุลเงินคริปโตอื่นๆ และในช่วงต้นปีหน้า PayPal มีแผนที่จะให้ลูกค้าใช้สกุลเงินคริปโตในการซื้อสินค้าจากเครือข่ายร้านค้าปลีกจำนวน 26 ล้านรายของทางบริษัท
ทางด้าน Square ซึ่งเป็นบริษัทฟินเทคของสหรัฐ เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ทางบริษัทได้เข้าซื้อบิตคอยน์มูลค่าถึง 50 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ Square ยังได้เปิดให้บริการสกุลเงินคริปโตสำหรับลูกค้าที่ใช้แอปพลิเคชั่น Cash ของทางบริษัท
บิตคอยน์ยังได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกพากันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้ทำให้สกุลเงินของหลายประเทศอ่อนค่าลง ซึ่งรวมทั้งดอลลาร์ ส่งผลให้นักลงทุนหันมาถือครองบิตคอยน์ในฐานะสินทรัพย์ทางเลือก
นอกจากนี้ ยังมีการมองว่าบิตคอยน์มีสถานะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เช่นเดียวกับทองคำ ซึ่งนักลงทุนจะแห่เข้าซื้อในช่วงเวลาที่เกิดความตื่นตระหนก
ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังใช้บิตคอยน์เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อจากการที่รัฐบาลมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายริค ไรเดอร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้ของแบล็คร็อค ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวว่า ในอนาคต บิตคอยน์จะสามารถขึ้นมาทดแทนตำแหน่งของทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
"ผมคิดว่าสกุลเงินคริปโตจะยังคงอยู่ต่อไป ผมคิดว่ามันเป็นสินทรัพย์ที่คงทน โดยบิตคอยน์เป็นเครื่องมือที่คงทนซึ่งจะสามารถขึ้นมาแทนที่ทอง เพราะบิตคอยน์สามารถทำหน้าที่ได้มากกว่าทอง" นายไรเดอร์กล่าว