EU ชูแผนเสริมแกร่งสกุลเงินยูโร หวังลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 20, 2021 12:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ประกาศแผนใหม่เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรป (EU) ตลอดจนป้องกันการถูกขัดขวางจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

แถลงการณ์ของคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า เป้าหมายหลักของแผนดังกล่าว คือการสนับสนุนบทบาทของสกุลเงินยูโรในระดับสากลให้โดดเด่นขึ้น ด้วยการแสวงหาความร่วมมือจากพันธมิตรประเทศที่สามเพื่อสนับสนุนการใช้เงินยูโร

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปยังได้สนับสนุนการพัฒนาเครื่องมือและเกณฑ์กำหนดมาตรฐานโดยใช้สกุลเงินยูโร รวมทั้งยกสถานะของเงินยูโรให้เป็นสกุลเงินที่ใช้อ้างอิงระดับสากลในอุตสาหกรรมพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์

แผนดังกล่าวจะใช้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในตลาดการเงินของ EU และเพื่อเพิ่มความต้านทานให้ EU ในกรณีที่ถูกประเทศอื่นคว่ำบาตรฝ่ายเดียว ตลอดจนสนับสนุนการเสริมสร้างความเป็นเอกภาพและการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรของ EU เอง

นายวาลดิส ดอมบรอฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า EU จะสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นในแง่เศรษฐกิจและการเงินในเวทีโลก พร้อมกับผนึกกำลังในระดับพหุภาคีและร่วมมือใกล้ชิดกับพันธมิตร

นายดอมบรอฟสกิสกล่าวว่า "แผนการนี้เป็นการกำหนดแนวทางหลักๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยเฉพาะการผลักดันการใช้เงินสกุลยูโร"

ทางด้านนายเปาโล เจนติโลนี กรรมาธิการด้านเศรษฐกิจของ EU เพิ่มเติมว่า "การสร้างความแข็งแกร่งให้กับเงินยูโรในระดับสากลจะเป็นเกราะป้องกันระบบเศรษฐกิจและการเงินของเราไม่ให้ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ช่วยลดการพึ่งพาสกุลเงินอื่นและเป็นหลักประกันการทำธุรกรรมในอัตราที่ต่ำลง ตลอดจนป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับต้นทุนด้านการเงินของบริษัทในกลุ่ม EU"

ทั้งนี้ เอกสารของ EU ไม่ได้ระบุชื่อประเทศที่สามแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี หลายครั้งการกีดกันที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการกล่าวหาสหรัฐที่มักข่มขู่ใช้มาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวเพื่อขัดขวางผลประโยชน์ของยุโรป

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (19 ม.ค.) รัฐมนตรีคลังยุโรปได้เปิดประชุมเป็นครั้งแรกในวาระที่โปรตุเกสรับหน้าที่เป็นประธานสภา EU โดยมุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงการวางรากฐานเพื่อสร้างการเติบโตและการสร้างงานอย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ