นายเดฟ คาลฮูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทโบอิ้ง กล่าวว่า ปัญหาในการกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 จะทำให้การฟื้นตัวของการเดินทางล่าช้าออกไปจนถึงช่วงกลางหรือปลายฤดูร้อนนี้
"พวกเราต่างหวังว่าการกระจายวัคซีนจะมีความราบรื่นมากกว่านี้" นายคาลฮูนกล่าว
นอกจากนี้ นายคาลฮูนกล่าวว่า เขาหวังว่าอุปสงค์ในการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวและเพื่อธุรกิจจะฟื้นตัวขึ้น เมื่อมีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น แต่กระบวนการดังกล่าวอาจจะต้องใช้เวลามากขึ้นอีกหลายเดือน
ขณะนี้ บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ต่างก็กำลังเผชิญปัญหาในการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 จนต้องประกาศลดปริมาณการส่งมอบวัคซีน ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อหลายประเทศ
นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) กล่าวว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 จะต้องรักษาคำพูดเกี่ยวกับการส่งมอบวัคซีนให้แก่ EU
"ยุโรปได้ลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อช่วยพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ครั้งแรกของโลก และเพื่อสร้างสินค้าสาธารณะสำหรับโลกอย่างแท้จริง และตอนนี้ บริษัทจะต้องส่งมอบวัคซีน โดยต้องรักษาข้อผูกพัน" นางฟอน เดอร์ เลเยน กล่าว
ทั้งนี้ แอสตร้าเซนเนก้าแถลงเมื่อวันศุกร์ว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ทางบริษัทพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด จะมีการส่งมอบไปยัง EU ต่ำกว่าเป้าหมายจนถึงปลายเดือนมี.ค. อันเนื่องจากปัญหาด้านการผลิต โดยคาดว่าจะมีการลดปริมาณการส่งมอบวัคซีนลง 60% เหลือเพียง 31 ล้านโดส ขณะที่บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ระบุเช่นกันว่า ทางบริษัทจะลดการส่งมอบวัคซีนโควิด-19 เหลือเพียง 50% ให้แก่ยุโรป โดยจะกระทบการส่งมอบช่วงสิ้นเดือนนี้จนถึงต้นเดือนหน้า
นายเอดการ์ รินเควิช รมว.ต่างประเทศลัตเวีย กล่าวว่า EU อาจทำการฟ้องร้องแอสตร้าเซนเนก้าต่อศาลในข้อหาละเมิดสัญญาจัดส่งวัคซีนโควิด-19
นอกจากนี้ EU ยังขู่ที่จะทำการจำกัดการส่งออกวัคซีนโควิด-19 ที่มีฐานการผลิตในยุโรป โดยไฟเซอร์มีโรงงานผลิตวัคซีนอยู่ในเบลเยียม
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ระบุว่า EU จะกำหนดให้บริษัทยาทำการลงทะเบียนการส่งออกวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันการนำโควต้าวัคซีนของ EU ไปส่งมอบให้แก่ประเทศอื่น
ทางด้านออสเตรเลียและไทยก็ประสบปัญหาการส่งมอบวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าเช่นกัน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสาธารณสุข กล่าวว่า แอสตร้าเซนเนก้าจะส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ไทยจำนวน 150,000 โดส จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 200,000 โดส และต่ำกว่าจำนวน 1 ล้านโดสที่ไทยเสนอในช่วงแรก
บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ระบุว่า ทางบริษัทจะลดการส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ยุโรป ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปแสดงความไม่พอใจ ขณะที่บางประเทศ เช่น อิตาลี ขู่ดำเนินการทางกฎหมาย
รัฐบาลโรมาเนียเปิดเผยว่า ไฟเซอร์ได้ลดการส่งมอบวัคซีน 50% ในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่จะค่อยๆเพิ่มจำนวนการส่งมอบในภายหลัง แต่การส่งมอบจะยังไม่กลับสู่ระดับปกติ จนกว่าจะถึงปลายเดือนมี.ค.
โปแลนด์ก็ถูกลดการส่งมอบวัคซีนเหลือเพียง 50% เช่นกัน ส่วนสาธารณรัฐเชคก็เผชิญปัญหาขาดแคลนวัคซีนเช่นเดียวกัน จนส่งผลกระทบต่อโครงการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ให้แก่ประชาชน
ทางด้านเดนมาร์กระบุว่า การที่ไฟเซอร์ลดการส่งมอบวัคซีน 50% จะทำให้เกิดการขาดแคลนวัคซีน 10% ในไตรมาสแรก
รัฐบาลฮังการีเรียกร้องให้ EU ทำการเจรจากับไฟเซอร์เพื่อให้มีการส่งมอบวัคซีนอย่างตรงเวลา
นอกจากนี้ ประเทศที่อยู่นอก EU เช่น สวิตเซอร์แลนด์และแคนาดาก็ถูกไฟเซอร์ลดการส่งมอบวัคซีนเช่นกัน
ไฟเซอร์ออกแถลงการณ์ระบุว่า ทางบริษัทจะทำการปรับปรุงประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 จึงทำให้จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ควบคุมกฎระเบียบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งมอบวัคซีนเป็นการชั่วคราว
ไฟเซอร์ระบุว่า ปริมาณการส่งมอบวัคซีนจะลดลงตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนนี้จนถึงต้นเดือนหน้า โดยกระทบต่อการส่งมอบวัคซีนทุกประเทศในยุโรป แต่การส่งมอบจะเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ปลายเดือนหน้า