World Today: ประเด็นข่าวต่างประเทศน่าติดตามวันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 5, 2021 08:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 300 จุดเมื่อคืนนี้ โดยได้รับแรงกดดันจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นเหนือระดับ 1.5% หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตือนว่าสหรัฐอาจเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อหลังเปิดเศรษฐกิจ

-- นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า การที่สหรัฐกลับมาเปิดเศรษฐกิจ หลังมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จะทำให้เงินเฟ้อดีดตัวขึ้น ขณะเดียวกันนายพาวเวลได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนในตลาดพันธบัตรและภาวะตึงตัวด้านการเงินที่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของเฟด อย่างไรก็ตาม นายพาวเวลไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะใช้มาตรการควบคุมความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดพันธบัตร ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ คำเตือนเรื่องเงินเฟ้อของนายพาวเวลยังส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นเหนือระดับ 1.5% เมื่อคืนนี้ ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อบรรยากาศการซื้อขายในตลาด เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีถือเป็นพันธบัตรที่ใช้อ้างอิงในการกำหนดราคาของตราสารหนี้ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวขึ้น จะทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจเผชิญเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นในการชำระหนี้

-- ที่ประชุมกลุ่มโอเปกพลัส มีมติคงเพดานการผลิตน้ำมันที่ระดับ 7.2 ล้านบาร์เรล/วันต่อไปจนถึงเดือนเม.ย. ทางด้านซาอุดีอาระเบียสมัครใจที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1 ล้านบาร์เรล/วันต่อไปอีก 1 เดือน

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมโอเปกพลัสได้อนุญาตให้รัสเซียปรับเพิ่มกำลังการผลิต 130,000 บาร์เรล/วันในเดือนเม.ย. และอนุญาตให้คาซัคสถานเพิ่มกำลังการผลิต 20,000 บาร์เรล/วัน เพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศ

รายงานระบุว่า ในการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัสเมื่อวานนี้ เจ้าชายอับดูลาซิส บิน ซัลมานจากซาอุดีอาระเบีย ได้เรียกร้องให้สมาชิกโอเปกพลัสใช้ความระมัดระวังในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการผลิตน้ำมัน ท่ามกลางความไม่แน่นอนของอุปสงค์ อันเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

-- สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ (USGS) เปิดเผยว่า เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.1 แมกนิจูดนอกชายฝั่งนิวซีแลนด์ในช่วงเช้าวันนี้ ส่งผลให้มีการเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิเป็นวงกว้างในทะเลแปซิฟิก

ข้อมูลของ USGS ระบุว่า แผ่นดินไหวรุนแรงครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลา 08.28 น.ตามเวลาท้องถิ่น โดยจุดที่เกิดแผ่นดินไหวอยู่ใกล้กับหมู่เกาะเคอร์มาเดกของนิวซีแลนด์ และมีความลึกที่ระดับ 19 กิโลเมตร

-- Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 115,979,893 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 2,575,250 ราย

ขณะนี้ สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก (29,460,466) รองลงมาคืออินเดีย (11,172,925), บราซิล (10,722,221), รัสเซีย (4,290,135), สหราชอาณาจักร (4,201,358), ฝรั่งเศส (3,810,316), สเปน (3,136,321)

-- กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียเปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวน 7,264 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,361,098 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

-- รัฐบาลสิงคโปร์ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ชาวสิงคโปร์รีบเดินทางออกจากเมียนมาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจากการชุมนุมประท้วงรัฐบาลทหารของเมียนมาจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ชาวเวียดนามจำนวนเกือบ 400 คนได้เดินทางออกจากเมียนมาเมื่อวานนี้ ท่ามกลางวิกฤตการเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้ โดยชาวเวียดนามได้เดินทางออกจากเมียนมาโดยเที่ยวบิน 2 เที่ยว ซึ่งมีการจัดเตรียมโดยสถานเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำเมียนมา และสายการบินเวียดนามแอร์ไลน์

รัฐบาลไทยได้เพิ่มเที่ยวบินอพยพประชาชนที่ต้องการเดินทางออกจากเมียนมาเป็นวันที่ 12 มี.ค. และ 16 มี.ค. ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และวิกฤตการเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้

-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกอยู่ที่ระดับ 745,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 750,000 ราย

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ปรับเพิ่มตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ สู่ระดับ 736,000 ราย จากเดิมรายงานที่ระดับ 730,000 ราย

ส่วนจำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลง 124,000 ราย แตะระดับ 4.3 ล้านราย สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐพุ่งขึ้น 2.6% ในเดือนม.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 2.1% หลังจากเพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือนธ.ค.

การดีดตัวของคำสั่งซื้อภาคโรงงานได้รับแรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของคำสั่งซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า แม้ว่าคำสั่งซื้อเครื่องจักรปรับตัวลง

เมื่อเทียบรายปี ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเพิ่มขึ้น 1.3% ในเดือนม.ค.

ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐาน ที่ไม่รวมหมวดอาวุธและเครื่องบิน เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนม.ค. โดยยอดสั่งซื้อดังกล่าวถือเป็นมาตรวัดความเชื่อมั่น และแผนการใช้จ่ายในภาคธุรกิจ

-- นักลงทุนจับตาความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐลงมติให้ความเห็นชอบต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา ก่อนที่จะส่งให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนลงนามรับรองเป็นกฎหมาย

นอกจากนี้ นักลงทุนยังรอดูตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.พ.ของสหรัฐซึ่งกระทรวงแรงงานมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้เวลา 20.30 น. ตามเวลาไทย ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเดือนก.พ.จะเพิ่มขึ้น 210,000 ตำแหน่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ