World Today: ประเด็นข่าวต่างประเทศน่าติดตามวันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 17, 2021 09:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักลงทุนจับตาผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟดซึ่งจะมีการแถลงในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่ของวันพรุ่งนี้ตามเวลาไทย เพื่อดูท่าทีของเฟดเกี่ยวกับแนวโน้มการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อที่เป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

-- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (16 มี.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐ ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบจากการร่วงลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน และกลุ่มอุตสาหกรรม

-- ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกลดลง 3.0% ในเดือนก.พ. หลังจากพุ่งขึ้น 7.6% ในเดือนม.ค. โดยการร่วงลงของยอดค้าปลีกในเดือนก.พ.ได้รับผลกระทบจากภาวะอากาศหนาวจัดในสหรัฐ

ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รายงานว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐลดลง 2.2% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ย.2563 และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.3% โดยได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่หนาวจัดในสหรัฐ

-- สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐที่ระดับ "AA+/A-1+" โดยระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และการดำเนินนโยบายการเงินที่มีความยืดหยุ่นอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐสามารถรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้

S&P ระบุว่า แนวโน้มความน่าเชื่อถือของสหรัฐยังคงมีเสถียรภาพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า S&P คาดหวังว่าการขยายตัวเศรษฐกิจสหรัฐจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อการแพร่ระบาดเริ่มบรรเทาลง

ทั้งนี้ ในปี 2554 ที่ผ่านมา S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของสหรัฐลง 1 ขั้นจากระดับสูงสุดที่ AAA เป็น AA+ หลังจากรัฐบาลสหรัฐเผชิญกับการขาดดุลงบประมาณและระดับหนี้สินที่สูงขึ้น

ส่วนสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายอื่นๆนั้น ฟิทช์ เรทติ้งส์ และมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ยังคงให้อันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐสูงสุดที่ AAA และ Aaa ตามลำดับ

-- รัฐบาลฟิลิปปินส์ประกาศห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ รวมทั้งพลเมืองฟิลิปปินส์ที่จะเดินทางกลับประเทศตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.จนถึงวันที่ 19 เม.ย. เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคำสั่งดังกล่าวมีข้อยกเว้นสำหรับแรงงานต่างชาติ

แถลงการณ์ของรัฐบาลฟิลิปปินส์ระบุว่า ภายใต้คำสั่งดังกล่าว ทางรัฐบาลจะจำกัดจำนวนประชาชนที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศเหลือเพียง 1,500 คนต่อวัน โดยในจำนวนนี้ไม่รวมเจ้าหน้าที่ทูตและบุคคลากรทางการแพทย์

-- ผลสำรวจของแบงก์ ออฟ อเมริกา ระบุว่า บรรดาผู้จัดการกองทุนมีความวิตกเกี่ยวกับความเสี่ยงจากเงินเฟ้อมากที่สุด ตามมาด้วยการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับโควิด-19 ร่วงลงมาอยู่ที่อันดับ 3

ผลสำรวจยังพบว่านักลงทุนยังมีความวิตกปลีกย่อยเกี่ยวกับภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท, การที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนอาจประกาศขึ้นภาษีต่อชาวอเมริกัน รวมทั้งอาจคุมเข้มกฎระเบียบในภาคธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากขณะนี้สหรัฐมีการฉีดวัคซีนในวงกว้าง ส่งผลให้จำนวนผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และจำนวนผู้เสียชีวิตลดต่ำลง ทำให้ปัจจัยความกังวลเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ไม่ติดอันดับ 1 เป็นครั้งแรกในเดือนมี.ค. หลังจากที่ครองอันดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปีที่แล้ว

-- นายสตีฟ คอชเรน หัวหน้านักวิเคราะห์ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของบริษัทมูดี้ส์ อนาลิติกส์ กล่าวว่า ปัญหาของวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า จะทำให้การกระจายวัคซีนในยุโรปล่าช้าออกไป และส่งผลกระทบต่อการค้าในระดับโลก

นายคอชเรนกล่าวว่า สิ่งนี้ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับเอเชีย เนื่องจากหลายประเทศต้องพึ่งพาการค้า

"ปัจจัยดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงต่อบทบาทของเอเชียในการผลักดันเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวขึ้น" เขากล่าว

อย่างไรก็ดี นายคอชเรนกล่าวว่า "ยังเป็นโชคดีที่ว่า ขณะนี้การค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง และการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหม่ในยุโรปไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต"

-- นายคริสเตียน ลินด์ไมเออร์ โฆษกองค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของ WHO อาจออกแถลงการณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า หลังมีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนบางราย

ทั้งนี้ WHO กำลังพิจารณารายงานที่ระบุว่าวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน โดย WHO กำลังทำการหารืออย่างใกล้ชิดกับองค์การยาแห่งยุโรป (EMA)

ทางด้าน EMA จะทำการพิจารณารายงานเกี่ยวกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในวันนี้ และ EMA จะจัดการประชุมวาระพิเศษในวันพฤหัสบดีนี้เพื่อหาข้อสรุปต่อรายงานดังกล่าว

-- นายแพทย์เอเซเคียล เอมมานูเอล อดีตที่ปรึกษาด้านโควิด-19 ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า หลายประเทศในยุโรปที่กำลังสั่งระงับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เป็นการกระทำที่ใช้อารมณ์ โดยไม่มีหลักฐานสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์

"มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการเพื่อสนองตอบต่อความวิตกกังวลของประชาชนเกี่ยวกับวัคซีนดังกล่าว โดยไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลหลักฐานใดๆ" นายเอมมานูเอลกล่าว

ข้อมูล ณ วันที่ 14 มี.ค.พบว่า มีการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 37 ราย จากทั้งหมดมากกว่า 17 ล้านรายในสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป

-- อินโดนีเซียประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า หลังมีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนบางราย

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องให้ประเทศต่างๆหลีกเลี่ยงการระงับโครงการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 หลังหลายประเทศประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากกังวลต่อผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน

ก่อนหน้านี้ เยอรมนี ฝรั่งเศส เดนมาร์ก ออสเตรีย นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี บัลแกเรีย ลักเซมเบิร์ก เอสโทเนีย ลิธัวเนีย ลัตเวีย โรมาเนีย ต่างก็ได้ประกาศระงับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หลังมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากอาการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ และบางรายมีอาการลิ่มเลือดอุดตันในปอดหลังได้รับวัคซีน ส่วนประเทศนอก EU เช่น อินโดนีเซียและคองโก ก็ได้ประกาศระงับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเช่นกัน

-- บริษัทโมเดอร์นา อิงค์เปิดเผยว่า ทางบริษัทกำลังพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนแต่ไม่เกิน 12 ปี

ทั้งนี้ โมเดอร์นาจะทำการประเมินเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการฉีดวัคซีน 2 โดส ซึ่งห่างกัน 28 วัน โดยบริษัทจะเปิดรับอาสาสมัครซึ่งเป็นเด็กจำนวน 6,750 คนในสหรัฐและแคนาดา

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า โมเดอร์นากำลังพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 สำหรับวัยรุ่นที่มีอายุ 12-18 ปี

ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ได้อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ของโมเดอร์นาสำหรับผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี

-- Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 121,228,379 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 2,681,932 ราย

ขณะนี้ สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก (30,192,224) รองลงมาคือบราซิล (11,609,601), อินเดีย (11,438,464), รัสเซีย (4,409,438), สหราชอาณาจักร (4,268,821), ฝรั่งเศส (4,108,108), อิตาลี (3,258,770) และสเปน (3,200,024)

นอกจากนี้ สหรัฐยังเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลก (549,367) ตามมาด้วยบราซิล (282,400), เม็กซิโก (194,944), อินเดีย (159,079) และสหราชอาณาจักร (125,690)

-- จับตาข้อมูลเศรษฐกิจในวันนี้ อียูจะเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. ขณะที่สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนก.พ., สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รวมถึงการแถลงมติอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) (เช้าวันที่ 18 มี.ค.)

ส่วนในวันพรุ่งนี้ ออสเตรเลียมีกำหนดเปิดเผยอัตราว่างงานเดือนก.พ., อียูจะเปิดเผยดุลการค้าเดือนม.ค., ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) เตรียมจัดประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย และสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีการผลิตเดือนมี.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟียและจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ