เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) แสดงความเชื่อมั่นว่า การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียรุนแรงเหมือนกับเหตุการณ์ "Taper Tantrum" ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว
ทั้งนี้ Taper Tantrum คือเหตุการณ์ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงในปี 2556 หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศว่าจะปรับลดวงเงินในโครงการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เม็ดเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่จำนวนมาก ซึ่งรวมถึงตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย และยังผลักดันให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ พากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อปกป้องบัญชีทุนในประเทศ
นายฌอน โร้ช หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ S&P ระบุว่า "การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ส่งผลกระทบไม่เท่ากัน"
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐประเภท 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.689% เมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2563 ก่อนที่จะขยับลงจากระดับดังกล่าว หลังจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดระบุว่ายังไม่มีแผนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้
โร้ชอธิบายเรื่องนี้ว่า การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐสะท้อนให้เห็นถึงความหวังที่ว่า เศรษฐกิจที่ขยายตัวแข็งแกร่งขึ้นจะหนุนอัตราเงินเฟ้อให้ดีดตัวขึ้นด้วย และปกติแล้วเอเชียถือเป็นภูมิภาคที่จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
S&P ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในปัจจุบันของเอเชียจะช่วยให้ภูมิภาคแห่งนี้มีเกราะป้องกันในการรับมือกับวิกฤตการณ์จากภายนอกได้ดีกว่าในปี 2556 ซึ่งภาวะดังกล่าวได้แก่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด, อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ, อัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่ปรับตัวสูงขึ้น และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ หลายประเทศในเอเชียประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจเอเชียฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่าในยุโรปและสหรัฐ
"การฟื้นตัวที่เกิดขึ้นทั่วตลาดเกิดใหม่ในเอเชียจะช่วยให้ภูมิภาคแห่งนี้สามารถต้านทานกับการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐได้ ตราบใดที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังคงสะท้อนถึงแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ดีขึ้น ไม่ใช่สะท้อนถึงวิกฤตการเงิน" นายโร้ชกล่าว