World Today: ประเด็นข่าวต่างประเทศน่าติดตามวันนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 19, 2021 09:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ โดยได้รับแรงกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19 ในยุโรป ซึ่งทำให้บางประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง

-- นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับข่าวการแพร่ระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 ในยุโรป รวมทั้งการที่หลายประเทศในยุโรประงับใช้วัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งส่งผลให้แผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในภูมิภาคแห่งนี้เป็นไปอย่างล่าช้า และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

-- จับตาตลาดหุ้นเอเชียวันนี้ คาดปรับตัวลงตามตลาดหุ้นสหรัฐ โดยตลาดฟิวเจอร์ของญี่ปุ่น ฮ่องกง และออสเตรเลีย ต่างปรับตัวลง ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดจะเปิดลดลงเช้านี้

-- ธนาคารกลางไต้หวันประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.125% เมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

-- ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงินเมื่อวานนี้ โดย BoE มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

-- กองทุน RDIF ซึ่งเป็นกองทุนบริหารความมั่งคั่งของรัสเซีย และเป็นผู้ให้การสนับสนุนการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของรัสเซีย แถลงว่า เจ้าหน้าที่เม็กซิโกสามารถตรวจยึดวัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย ซึ่งเป็นวัคซีนปลอม

"เช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่เม็กซิโกสามารถตรวจยึดวัคซีนล็อตหนึ่ง ซึ่งมีการออกแบบ และใส่บรรจุภัณฑ์เหมือนกับ Sputnik V" กองทุน RDIF แถลง

"ผลการวิเคราะห์รูปถ่ายของวัคซีนล็อตดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการออกแบบขวดใส่วัคซีนและฉลาก บ่งชี้ว่านี่เป็นวัคซีนปลอม" แถลงการณ์ระบุ

-- Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 121,979,495 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 2,695,311 ราย

-- กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียเปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวน 6,570 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 1,443,853 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

-- องค์การยาแห่งยุโรป (EMA) แถลงวานนี้ว่า วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดย EMA แนะนำให้ประเทศในยุโรปยังคงใช้วัคซีนนี้ต่อไป ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจะมีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

-- แหล่งข่าวเปิดเผยว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดนเตรียมผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางกับประเทศที่มีชายแดนติดกับสหรัฐ เช่น แคนาดาและเม็กซิโก ในกลางเดือนพ.ค.

นอกจากนี้ สหรัฐยังได้เตรียมผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางกับอีกหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร บราซิล และยุโรป

"จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในกลางเดือนพ.ค. เนื่องจากเมื่อถึงเวลาดังกล่าวจะมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในวงกว้างมากขึ้น" แหล่งข่าวระบุ

-- เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า สหรัฐกำลังจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 4 ล้านโดสให้แก่แคนาดาและเม็กซิโก

ทั้งนี้ เม็กซิโกจะได้รับวัคซีนจำนวน 2.5 ล้านโดส ขณะที่แคนาดาจะได้รับ 1.5 ล้านโดส

ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ยังไม่ได้ให้การอนุมัติการใช้วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าแต่อย่างใด แม้ว่าโรงงานแห่งหนึ่งในสหรัฐมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวนหลายล้านโดส

-- ธนาคารกลางตุรกีประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อคืนนี้ เพื่อสกัดเงินเฟ้อและความผันผวนของค่าเงิน

ทั้งนี้ ธนาคารกลางประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยปรับขึ้น 2.0% สู่ระดับ 19.0% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะมีการปรับขึ้น 1.0%

-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้นสู่ระดับ 770,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 700,000 ราย โดยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานยังคงสูงกว่าระดับในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งไม่เคยเกินระดับ 700,000 ราย

ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาวะธุรกิจในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก พุ่งขึ้นสู่ระดับ 51.8 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2516 จากระดับ 23.1 ในเดือนก.พ. โดยได้รับแรงหนุนจากการดีดตัวขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่นักลงทุนยังคงมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

-- สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญวันนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย เวลา 10.00 น. ตามเวลาไทย

ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อเดือนม.ค.นั้น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ ซึ่งรวมถึงการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับราว 0% โดย BOJ ตัดสินใจคงนโยบายการเงินในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นกำลังประสบความยากลำบากในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ภายใต้การประกาศภาวะฉุกเฉินรอบที่สอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ