นายอเดวาลี อเดเยโม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ เปิดเผยว่า การปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของสหรัฐสู่ระดับ 28% นั้นจะไม่ทำให้บริษัทอเมริกันมีศักยภาพในการแข่งขันลดน้อยลง เพราะรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เชื่อมั่นว่า ประเทศพัฒนาแล้วจะเห็นด้วยกับการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำทั่วโลก
นายอเดวาลีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า สหรัฐกำลังประสานงานอย่างใกล้ชิดกับชาติพันธมิตรในเรื่องการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำ และเชื่อว่าชาติพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะร่วมกันกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำเช่นเดียวกับสหรัฐ
ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้น หลังก่อนหน้านี้ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐเปิดเผยว่า สหรัฐกำลังดำเนินการร่วมกับกลุ่มประเทศ G20 เพื่อบรรลุข้อตกลงในการกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำสำหรับภาคธุรกิจในระดับโลก
คำกล่าวของนางเยลเลนมีขึ้น หลังจากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกพยายามแข่งขันกันกำหนดอัตราภาษีสำหรับภาคธุรกิจในระดับต่ำที่สุดเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐอาจถอนการลงทุนไปยังต่างประเทศ ขณะที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดนมีนโยบายปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสู่ระดับ 28% เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้ชดเชยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานวงเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์
นางเยลเลนกล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต่างๆจะต้องมีระบบภาษีที่มีเสถียรภาพเพื่อสร้างรายได้ที่เพียงพอให้แก่รัฐบาลในการใช้จ่ายในภาคสาธารณะ และการรับมือกับวิกฤตการณ์ ขณะที่ประชาชนก็ต้องแบกรับความรับผิดชอบในสัดส่วนที่เหมาะสมในการสนับสนุนด้านการเงินแก่รัฐบาล
ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวว่า เขาไม่มีความวิตกว่า ข้อเสนอของเขาในการปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสู่ระดับ 28% จะทำให้ภาคธุรกิจถอนตัวออกจากสหรัฐ
ปธน.ไบเดนกล่าวว่า ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่า การปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และทำให้ภาคธุรกิจถอนตัวออกจากสหรัฐ
สำนักข่าวเกียวโดรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า รัฐมนตรีกระทรวงการคลังจากกลุ่มประเทศ G20 จะจัดประชุมทางวิดีโอ เพื่อหารือเรื่องการบรรเทาหนี้ให้กับประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเรื่องอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก
แหล่งข่าวระบุว่า รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางจะออกแถลงการณ์หลังการประชุมที่จะจัดขึ้นนอกรอบการประชุมประจำปีทางออนไลน์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกในสัปดาห์นี้
หนึ่งในวาระการประชุมอื่นๆ ที่การประชุมทางไกลนั้นได้แก่กฎเกณฑ์ใหม่ด้านภาษีระหว่างประเทศ รวมถึงอัตราภาษีขั้นต่ำสำหรับบริษัทที่ดำเนินงานทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีทางอ้อมโดยใช้ประโยชน์จากดินแดนที่เก็บภาษีต่ำ
การหารือเกี่ยวกับอัตราภาษีโลกจะเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาระหว่างประเทศที่นำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และ G20 โดยมีประเทศที่เกี่ยวข้องเกือบ 140 ประเทศท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า บริษัทดิจิทัลยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างกูเกิลและแอปเปิล ไม่ได้จ่ายภาษีอย่างยุติธรรม
ประเทศที่เข้าร่วมนั้นตั้งเป้าที่จะบรรลุข้อสรุปที่ประสบความสำเร็จให้ได้ภายในกลางปีนี้
ทั้งนี้ กลุ่ม G20 ประกอบด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล สหราชอาณาจักร แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป