ผู้เชี่ยวชาญด้านค่าเงินของสหรัฐคาดการณ์ว่า ประเทศไทยและไต้หวันมีความเสี่ยงที่จะถูกกระทรวงการคลังสหรัฐภายใต้การนำของนางเจเน็ต เยลเลน ตีตราว่าเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงิน เช่นเดียวกับเวียดนามและสวิตเซอร์แลนด์ ในรายงานเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศซึ่งคาดว่าจะมีการเผยแพร่ในสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญมองว่า นางเยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐอาจจะไม่ใช้มาตรการที่แข็งกร้าวแบบเดียวกับคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เนื่องจากที่ผ่านมานั้น คณะบริหารของปธน.โจ ไบเดน พยายามใช้แนวทางที่สร้างสรรค์มากขึ้นกับบรรดาประเทศพันธมิตรและประเทศคู่ค้า โดยคาดว่านางเยลเลนจะพิจารณาถึงการบิดเบือนทางการค้าและกระแสเงินทุนในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด และจะทบทวนเกี่ยวกับโครงสร้างของรายงานดังกล่าว
นายแมทธิว กู้ดแมน อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิชาการประจำ Center for Strategic and International Studies กล่าวว่า "ผมคิดว่านางเยลเลนจะดำเนินการในเรื่องนี้ด้วยความยืดหยุ่นมากขึ้น และผมคาดว่า นางเยลเลนอาจจะไม่ตีตราอย่างชัดเจนว่าประเทศคู่ค้ารายใดทำการปั่นค่าเงิน"
ภายใต้กฎเกณฑ์ของสหรัฐนั้น ประเทศคู่ค้าจะถูกระบุว่าปั่นค่าเงิน หากประเทศนั้นมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐสูงกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์, มีการแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศในอัตราส่วนสูงกว่า 2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) และมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกสูงกว่า 2% ของตัวเลข GDP ซึ่งกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ส่งผลให้คณะบริหารของอดีตปธน.ทรัมป์ระบุว่าสวิตเซอร์แลนด์และเวียดนามเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงินเมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว
ทั้งนี้ กฎหมายสหรัฐกำหนดให้กระทรวงการคลังต้องทำการเจรจากับประเทศที่ถูกระบุว่าปั่นค่าเงิน เพื่อให้ประเทศนั้นๆ ดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของสหรัฐ มิฉะนั้นประเทศที่ถูกระบุว่าปั่นค่าเงินจะไม่สามารถทำสัญญาจัดซื้อกับรัฐบาลสหรัฐได้
นักวิเคราะห์ด้านปริวรรตเงินตราต่างประเทศกล่าวว่า ไต้หวันซึ่งมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในอัตราส่น 14% ของ GDP ในปี 2563, มียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการเข้าซื้อสกุลเงินต่างประเทศเกือบ 6% ของ GDP นั้น ถือว่าอยู่ในขอบข่ายของการถูกตีตราว่าปั่นค่าเงิน ขณะที่ไทย เวียดนาม และสิงคโปร์ ก็อยู่ในสถานะที่ไม่ต่างกัน