กลุ่มประเทศ G7 อยู่ในระหว่างการพิจารณาข้อเสนอของสหรัฐ เพื่อโต้ตอบกรณีที่จีนใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการบีบบังคับเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง โดยสหรัฐต้องการกลไกในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของนานาชาติเพื่อร่วมมือกันตอบโต้ความเคลื่อนไหวของจีน
อย่างไรก็ตาม ด้านสหภาพยุโรป (EU) ได้ใช้มาตรการที่แข็งกร้าวกับจีน โดยเฉพาะเยอรมนี อิตาลี และฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นความท้าทายของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษในฐานะเจ้าภาพการประชุม G7 ที่จะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้กลุ่ม G7 ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่ต่อต้านจีน
-- สินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี เนื่องจากประเทศเศรษฐกิจหลักเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยอุปสงค์เหล็ก อาหาร และพลังงานพุ่งสูงขึ้น ขณะสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยได้ส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวพืชผล โดยดัชนี Bloomberg Commodity Spot Index ซึ่งติดตามราคาวัตถุดิบ 23 ชนิด ปรับตัวขึ้น 0.8% เมื่อวานนี้ แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2554
-- ผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ในอินเดียได้ส่งผลให้ประเทศอื่นๆ ในเอเชียเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมโรคระบาด โดยสิงคโปร์ได้สั่งจำกัดการชุมนุมได้สูงสุดไม่เกิน 5 คน และเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจคนเข้าเมือง ด้านเวียดนามได้สั่งให้ผู้ที่กักตัวครบ 14 วันแล้วอยู่ในศูนย์กักกันโรคต่อไป หลังจากที่พบผู้ป่วยโควิด-19 จากเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อินเดียจำนวน 3 ราย
-- อีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทเทสลา อิงค์ ได้กลับมาใช้ทวิตเตอร์อีกครั้งเมื่อวานนี้ หลังจากที่เขาประกาศว่าจะพักการส่งข้อความในทวิตเตอร์เป็นการชั่วคราวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
คำแรกในทวิตเตอร์ของมัสก์ในวันนี้คือ "Doge" ตามด้วย "Dogecoin is the people's crypto" หรือ "Dogecoin คือสกุลเงินคริปโตของประชาชน"
คำเพียงไม่กี่คำดังกล่าวบนทวิตเตอร์ของมัสก์ในวันนี้ ส่งผลให้ Dogecoin พุ่งขึ้นมากกว่า 50% สู่ระดับ 0.05798 ดอลลาร์
-- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนซึ่งมาร์กิตจัดทำร่วมกับไฉซิน ขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 4 เดือนในเดือนเม.ย. โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่ง
ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตดีดตัวขึ้นแตะระดับ 51.9 ในเดือนเม.ย. จากระดับ 50.6 ในเดือนมี.ค.ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือน โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนเม.ย.อยู่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 50.8
-- ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเพียงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (4 พ.ค.) ขณะที่ดัชนี Nasdaq ดิ่งลงกว่า 1.8% เนื่องนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย หลังจากนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐกล่าวแสดงความเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยอาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐร้อนแรงเกินไป ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ รวมถึงตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนเม.ย.
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,133.03 จุด เพิ่มขึ้น 19.80 จุด หรือ +0.06% ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 4,164.66 จุด ลดลง 28.00 จุด หรือ -0.67% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,633.50 จุด ลดลง 261.62 จุด หรือ -1.88%
-- Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุวานนี้ว่า ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกสะสมมีจำนวน 154,646,237 ราย และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 3,233,042 ราย
สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุดในโลก (33,235,878) รองลงมาคืออินเดีย (20,595,973), บราซิล (14,791,434) และ ฝรั่งเศส (5,656,007)
-- บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ของสหรัฐ ประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสแรกของปีนี้ โดยมีรายได้และกำไรเหนือการคาดการณ์ของตลาด ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีแผนยื่นขอการอนุมัติอย่างเต็มรูปแบบจากองค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐ เพื่อให้วางจำหน่ายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทถึงมือผู้บริโภคได้โดยตรง
ไฟเซอร์ เปิดเผยว่า บริษัทมีกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 0.93 ดอลลาร์ มากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 0.76 ดอลลาร์ ส่วนรายได้อยู่ที่ 1.46 หมื่นล้านดอลลาร์ มากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 1.35 หมื่นล้านดอลลาร์
-- นักลงทุนจับตาการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญหลายรายการในวันนี้ โดยฝรั่งเศส, เยอรมนี และอียู เตรียมรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนเม.ย.จากมาร์กิต ส่วนสหรัฐเตรียมเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนเม.ย.จาก ADP, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือนเม.ย.จากมาร์กิต, ดัชนีภาคบริการเดือนเม.ย.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA)